23 มีนาคม 2560

หายใจเร็ว มือจีบ…อันตรายไหม

หายใจเร็ว มือจีบ…อันตรายไหม
หลังจากที่ได้รับเชิญมาดูงานประเทศหนึ่งในช่วงนี้ แอดมินก็พบว่าชาวต่างชาติก็มีภาวะมือจีบเกร็งพอสมควรนะ บางทีคนใกล้ตัวเราก็เป็น แล้วเราต้องพาไปหาหมอหรือเปล่า
ภาวะมือจีบเกร็งเป็นอาการที่พบบ่อยๆเวลาเกิดภาวะเครียด ตี่นเต้น หายใจเร็วโดยไม่รู้ตัว รู้อีกทีก็หน้ามืด มือเกร็งมือชา พอปล่อยทิ้งไว้หรือเพื่อนนำถุงมาให้หายใจในถุงก็หาย … ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกคนก็โชคดีไป แต่ว่ามันก็มีโรคที่อันตรายที่มีอาการเช่นนี้ได้เช่นกัน
มือจีบเกร็ง อธิบายง่ายๆว่าเมื่อหายใจเร็วมากๆแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกฟอกออกมามากกว่าปกติ เลือดจึงเกิดภาวะเป็นด่าง .. เมื่อเลือดเป็นด่าง สมดุลของเกลือแร่แคลเซียมจะเปลี่ยนไปเพราะเป็นเกลือแร่ที่ไวต่อการเกิดกรดด่างของโปรตีน ไอ้เจ้าแคลเซียมที่ต่ำลงมากนี่เองที่เป็นผลทำให้การกระตุ้นปลายประสาทไวขึ้น และกล้ามเนื้อก็พร้อมจะรับการกระตุ้นได้ง่ายขึ้นด้วย จึงเกิดอาการเกร็งเกิดขึ้น
ที่สำคัญคือต้องแยกออกจากภาวะที่ทำให้แคลเซียมในเลือดต่ำทั้งหลายเช่นต่อมพาราไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ผุ้ป่วยที่ตัดต่อมไทรอยด์ ภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้แคลเซียมในเลือดต่ำ โรคกลุ่มนี้ให้หายใจในถุงไม่หายนะครับ ต้องให้แคลเซียมทางหลอดเลือดดำเลยทีเดียว เพราะถ้ากล้ามเนื้อเกร็งขึ้นมาไปเกิดกับกล้ามเนื้อกล่องเสียงก็จะหายใจไม่เข้าจนเสียชีวิตได้ หรือไปเกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจก็เกิดการเต้นผิดจังหวะเสียชีวิตได้เช่นกัน
ถ้ามีประวัติการผ่าตัดคอ ฉายแสงที่ลำคอชัดๆคงช่วยได้มาก แต่ถ้าไม่ได้ประวัติตรงนี้พาไปโรงพยาบาลเถอะครับ บางทีเขาอาจไม่ได้เครียดจัดจนมือเกร็งก็ได้
มาถึงโรงพยาบาล จริงๆถ้าเกิดจากความเครียดก็มักจะดีขึ้นบ้าง เพราะเมื่อหายใจช้าลงก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้าเป็นโรคคงยังไม่ดีขึ้น คุณหมอจะทำการทดสอบโดยใช้เครื่องวัดความดันบีบค้างเอาไว้ (ประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอทเหนือกว่าความดันซีสโตลิก) แล้วดูการเปลี่ยนแปลงของมือ สักพักจะเริ่มมีอาการข้อมืองอ ข้อนิ้วเหยียด นิ้วโป้งเหยียด ข้อต่อระหว่างมือและนิ้วจะงอ และขยุ้มเข้าหากัน เราเรียกการทดสอบนี้ว่า Trousseau sign ตามชื่อคุณหมอชาวฝรั่งเศส Armand Trousseau ในประมาณปี 1860 คุณหมอมีเรื่องราวมากมายให้อ่านนะครับวันหลังจะมาเล่าให้ฟัง เรียกมือที่มีลักษณะนี้ว่า Accouchuer’s hand หรือ มือหมอตำแย ที่ทำมือลักษณะแบบนี้เวลาล้วงเข้าช่องคลอดเวลาทำคลอด
และมีการทดสอบโดยการเคาะเบาๆบนกล้ามเนื้อใบหน้าที่บริเวณหน้าหูและให้กระดูกแก้ม ก็จะเห็นกล้ามเนื้อกระตุก เรียกการทดสอบนี้ว่า Chovstek’s sign ตามชื่อคุณหมอชาวออสเตรีย Frantisek Chovstek รุ่นราวคราวเดียวกับคุณหมอ Trousseau นั่นเอง
หลังจากนั้นคงต้องยืนยันด้วยการตรวจหาระดับแคลเซียมในเลือดด้วยวิธีต่างๆ และหาสาเหตุการต่ำลงของแคลเซียมด้วย จึงให้การรักษา
ดังนั้น ..เห็นมือชา มือจีบเกร็ง อาจไม่ใช่แค่เครียดจัดนะครับ
ภาพจาก : New England Journal of Medicine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม