02 มีนาคม 2560

รายงานผลของการขึ้นภาษีน้ำตาล

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อปรับเพดานบนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดการปรับปรุงภาษีง่ายขึ้น..แต่ถ้าถามหมออย่างผม ผมก็จะคิดในใจว่าปรับแล้วคนจะซื้อเหล้าลดลงไหม และ ปรับแล้วปัญหาสุขภาพจากเหล้าจะลดลงไหม สุดท้ายคุณภาพชีวิตของตนในชาติจะดีขึ้นไหม

เรามาดูตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ผมเคยเสนอเรื่องภาษีน้ำตาลที่ฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกาตัดสินใจปรับภาษีอาหารที่มีน้ำตาลเกินกำหนด หวังผลว่าลูกหลานจะอ้วนน้อยลง เพราะผู้ผลิตจะผลิตน้อยลงและผู้บริโภคก็จะกินน้อยลง เมื่อวานได้อ่านรายงานวารสารทางสาธารณสุขของเม็กซิโก ดินแดนที่ทรัมป์หวาดระแวง เขาได้เก็บข้อมูลและรายงานผลของการขึ้นภาษีน้ำตาลเอาไว้ เราลองมาอ่านสรุปนะครับ

ประเทศเม็กซิโกประสบปัญหา เติมน้ำตาลเกินในอาหาร อยู่ที่ 12.5% ของพลังงานที่ควรได้ต่อวัน (ความจริงไม่ควรเกิน 10%) ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุให้คนอ้วน เม็กซิโกมีคนน้ำหนักเกินเกณฑ์อยู่ถึง 70% ที่เป็นผู้ใหญ่ และน้ำตาลที่เกินนี่แหละที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุ ทางรัฐบาลได้ทำการวิจัยออกมาว่า เจ้าน้ำตาลส่วนเกินที่มีผลมากสุดคือ น้ำตาลส่วนเกินที่ใส่มาในเครื่องดื่มทั้งหลาย ท่านลองไปในร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านแล้วลองอ่านฉลากว่ามีน้ำตาลเท่าไร แล้วจะตกใจ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาขาว ชาเขียว ชาฟ้า ชาหน้า ชาปาก ทั้งหลาย รวมไปถึงนมที่ใส่น้ำตาลด้วย

ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดเพิ่มภาษีน้ำตาลส่วนเกิน 1 เปโซต่อหนึ่งลิตร เครื่องดื่มที่หวานจากน้ำตาลที่เกิน(อันนี้ไม่ใช่แอลกอฮอล์) ตั้งแต่หนึ่งมกราคม 2014 สามปีแล้ว ..บ้านเรายังนั่งจับพระ..อยู่เลย และวิเคราะห์ผลเบื้องต้นช่วงแรกว่า การซื้อลดลงไหม หลังปรับเพิ่มภาษี ส่วนว่าสุขภาพจะดีขึ้นไหมเป็นการศึกษาในระยะต่อไป (เป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มีการคำนวนเงินเฟ้อด้วย) ผลออกมาอย่างนี้ครับ

โดยรวมสองปี การซื้อเครื่องดื่มที่ขึ้นภาษีลดลง 7.6% ประมาณ 20ซีซีต่อคนต่อปี ลดลงจริงๆครับ และส่วนมากก็จะมีผลต่อกลุ่มรายได้น้อยมากกว่าพวกที่ร่ำรวย (แต่คนรายได้น้อยนี่เกือบ 90% ของประเทศคล้ายๆประเทศสารขันธ์) แม้ว่าจะไม่ได้ลดลงตามเป้า แต่ก็ลดลงจากเดิมพอสมควร ส่วนเครื่องดื่มที่ไม่ได้ขึ้นภาษีก็จะมีคนซื้อมากขึ้น 2.1% ในช่วงสองปี เท่าๆกับที่คาดเดาไว้ (ตรงนี้ถ้าใส่เป็น นม นมถั่วเหลืองไม่หวาน น่าจะส่งผลดีทีเดียว)

สัดส่วนของการซื้อน้ำอัดลมลดลงมากสุด เพราะราคาแพงที่สุด ในขณะที่โรงงานผู้ผลิตก็ลดกำลังการผลิตเครื่องดื่มหวานเกิน ตามกลไกตลาด (ปลอมๆ เพราะแทรกแซงภาษี)

เป็นการแสดงว่าผลระยะสั้นนั้นใช้ได้ดี ผลระยะยาวคงต้องติดตามต่อไป และ ผลต่อสุขอนามัยก็จะได้รับการประเมินต่อไปในการศึกษาต่อเนื่อง การปรับภาษีน้ำตาลส่วนเกินในหลายๆประเทศที่เริ่มทำคงค่อยๆทยอยออกมา เพราะแนวทางอาหารที่ต้องการลด added sugar เพิ่งออกมาแพร่หลายในปี 2015 เพจเราก็ทำเรื่องอาหารไปหลายครั้ง

สำหรับประเทศไทยคงต้องรอต่อไป กับนโยบายภาษีอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่ และการควบคุมผู้ประกอบการ … รอนานหน่อยนะครับ การแก้ไขกฎหมายเมืองไทยยากมาก ยกเว้นจะมีม้าครบ 44 ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม