27 มกราคม 2564

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 2/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 2/4

มาถึงข้อที่สองคือ กระบวนการที่ใช้ในการเลิกบุหรี่ มีผลต่อการหยุดบุหรี่หรือไม่ ซึ่งถ้าเราคิดด้วยเหตุผลและตรรกะแล้ว ก็น่าจะมีผลแน่นอน ช่วยเพิ่มการหยุดบุหรี่แน่ แล้วหลักฐานที่ออกมาเป็นอย่างไร และในภาวะปัจจุบันที่มีแนวคิดการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงอื่น ๆ มาแทนบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม มันช่วยในการหยุดบุหรี่ได้จริงไหม เรามาค่อย ๆ อ่านกันไปครับ

ผลการศึกษาออกมาว่า กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ สามารถเพิ่มการหยุดบุหรี่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับการเลิกเอง

นอกจากมีประโยชน์ชัดเจนโดยเฉลี่ย risk ratio 1.83 เท่าเทียบกับเลิกเอง พบว่าการใช้วิธีใช้ยาและไม่ใช้ยาร่วมกันจะดีกว่าวิธีเดียว และใช้ยามากกว่าหนึ่งตัวมีประสิทธิภาพดีกว่าหนึ่งตัว โดยเรียงลำดับสัดส่วนยาที่เลิกได้คือ สารทดแทนนิโคติน ยาbupropion ยาvarenicline ยาvarenicline ประสิทธิภาพสูงมากได้ค่า risk ratio 2.24 เท่า ถึงแม้เราไม่ใช้ยาใด ใช้แต่การปรับพฤติกรรมก็ยังมีประโยชน์มากกว่าการเลิกเองอย่างมีนัยสำคัญ

บอกเราชัดเจนว่า การเลิกบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จคือ หยุดการสูบได้นั้นควรเข้าระบบและกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนเมื่อหยุดบุหรี่ได้แล้ว ผลของสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไรก็เป็นเรื่องของ การไม่มีบุหรี่ อันเกิดจากประสิทธิภาพของ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่อีกทีหนึ่ง ตรงนี้อาจจะงง ลองอ่านซ้ำอีกรอบนะครับ เพราะการคิดตามหลักฐานและสถิติ มันแยกประเด็นต่าง ๆ ออกจากกัน ไม่ปะปนกัน

แต่ว่าจะไปแปลความว่าวิเศษหรือนี่คือปลายทางของการรักษาบุหรี่ก็คงไม่ใช่ เพราะว่า

1. การศึกษาเกือบทั้งหมดที่นำมาสรุป เป็นการศึกษาผลลัพธ์ในระยะสั้น 6-12 เดือน ตามมาตรฐานการเลิกบุหรี่ ไม่รู้ว่านานกว่านี้ กระบวนการเลิกบุหรี่จะยังส่งผลหรือไม่ หรือบางทีที่อัตราการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ อาจเกิดจากกลับไปสูบซ้ำหลังจาก 6-12 เดือนก็เป็นได้ เพราะการติดตามอัตราตายจะต้องใช้เวลานานว่าอัตราการหยุดบุหรี่

2. การศึกษาเกือบทั้งหมดทำในคนที่มีความตั้งใจจะเลิกบุหรี่ และสามารถปฏิบัติตัวตามวิธีต่าง ๆ ได้ดี นั่นคือเราต้องตั้งพื้นฐานบนความตั้งใจอันแรงกล้าเสมอ

3. มีการศึกษาที่เก็บข้อมูลจากชีวิตจริง เป็นปริมาณน้อย ส่วนมากข้อมูลมาจากอาสาสมัครที่ได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเลิกบุหรี่ ถึงแม้กลุ่มที่เลิกเอง ก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชวนให้เลิกบุหรี่และมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการได้ตลอดเวลา ความเชื่อมั่นและผลทางจิตใจอันนี้ มีอิทธิพลต่อผลการศึกษา และประปรับใช้ในบ้านเรา

บอกว่าถ้าอยากเลิกบุหรี่ ควรหาตัวช่วยครับ ง่ายสุดคือสายด่วน 1600 หรือปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน ปัจจุบันมีร้านยาเข้าโครงการเภสัชกรช่วยเลิกบุหรี่มากมาย สามารถปรึกษาได้เช่นกัน และถ้าเป็นไปได้ภาครัฐต้องทุ่มเทเพื่อ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มากกว่านี้

มาถึงข้อที่สาม คือ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ต่าง ๆ นั้น มันมีผลเสียด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ โดยคัดเลือกเอาการศึกษาวิจัยที่ตั้งเป้าหมายเพื่อศึกษาผลเสีย พบว่า ไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพใด ๆ

ต้องขออธิบายแบบนี้ ในการศึกษาต่าง ๆ ของกระบวนการที่ใช้เลิกบุหรี่ จะมีผลไม่พึงประสงค์เสมอ ถ้าเป็นผลข้างเคียงของยาหรือสารทดแทนนิโคติน ที่เราทราบเรื่องผลข้างเคียงของยาอยู่แล้ว อันนี้จะไม่นับครับ แต่จะบอกไปเลยว่าอาจจะเจอผลข้างเคียงของยาอะไรบ้าง เพราะยาหลอกหรือการเลิกเองจะไม่เจอผลข้างเคียงจากยาอย่างแน่นอน เช่นอาการชักจากยาbupropion อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยา varenicline

แต่ผลอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ้วนขึ้น จนไปถึงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิด โรคทางจิตเวชที่เกิด สามารถบอกได้จากการศึกษาว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ (รวมทุกอย่างนะครับ) เพราะอาจเกิดจาก ผลจากการหยุดบุหรี่ เช่น อ้วนขึ้น ผลจากโรคที่สูบบุหรี่มาเดิมเช่น โรคหัวใจ

ก็เรียกได้ว่า กระการบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ ไม่มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งสองข้อ แม้งานของ USPSTF นี้จะไม่ได้สรุปเป็นคำแนะนำการปฏิบัติออกมาแต่ก็บอกได้ว่า กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีประโยชน์มากกว่าโทษและเพิ่มโอกาสการหยุดบุหรี่ ถ้าอยากเลิกบุหรี่ แนะนำให้เข้าสู่กระบวนการจะเกิดประโยชน์สูงที่สุดครับ

เราใช้เวลาอ่านและทำความเข้าใจเรื่องของ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ สำหรับคนทั่วไปที่สูบบุหรี่ เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลานานและต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจกันเรียบร้อย ในส่วนของผลการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์และประเด็นเรื่องของเวปที่ผมจะอธิบายต่อไป เราจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และไม่ยาวนานแบบนี้ครับ

หากสนใจกรุณาติดตามตอนที่ 3/4 ต่อไป

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม