High flow nasal canula : ออกซิเจนอัตราไหลสูง
ปัจจุบันนี้หลายโรงพยาบาลมีการติดตั้งเครื่องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (HFNC) มาใช้เพื่อรักษาภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันกันแล้ว
ระบบออกซิเจนของโรงพยาบาลแม้จะจ่ายแก๊สออกซิเจนความเข้มข้นสูงออกมาจากท่อส่งได้จริง (fraction of inspired oxygen) ใกล้เคียง 100% แต่เนื่องจากระบบจ่ายแก๊สที่มีนั้นเป็นระบบอัตราการไหลต่ำ (low flow) เมื่อจ่ายแก๊สออกซิเจนออกมาจะเกิดการไหลเข้าระบบจากอากาศปรกติ ทำให้สัดส่วนออกซิเจนต่ำกว่าที่เป็น จะไม่ได้เท่าที่เราต้องการ หากต้องการออกซิเจนสูงก็ทำไม่ได้ จำต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นหน้ากากพร้อมถุงเก็บ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ หรือในอุปกรณ์ครอบปากจมูกอัดแรงดัน (non invasive ventilator)
วิธีที่ว่านั้นไม่ง่าย ผู้ป่วยไม่สบายตัว
สถานการณ์ที่เราต้องการออกซิเจนความเข้มข้นสูงขึ้นที่เราพบบ่อยคือ ภาวะหายใจล้มเหลวแบบขาดออกซิเจน (อีกแบบคือคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง) ถ้าเราไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษเช่นท่อช่วยหายใจ หรือเครื่องช่วยหายใจนั้น โอกาสจะประสบความสำเร็จน้อยมาก เพราะสายออกซิเจน (nasal canula) ให้ออกซิเจนได้ไม่มาก อัตราการไหลก็ได้มากสุด 6 ลิตรต่อนาที คงได้ออกซิเจนไม่พอ
อีกอย่างคือเวลาที่หายใจล้มเหลวแบบขาดออกซิเจน (acute hypoxemic respiratory failure) ข้างต้นนั้น เราต้องการอัตราการไหลออกซิเจนสูงถึง 40-50 ลิตรต่อนาที ในเมื่อร่างกายเราทำไม่ได้ เราต้องการอาศัยแรงจากภายนอก ซึ่ง nasal canula ทำไม่ได้แน่นอน (มากสุดก็ 6-8 ลิตร)
ดังนั้น ภาวะหายใจล้มเหลวจากการขาดออกซิเจน โดยเฉพาะจากปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง ภาวะน้ำท่วมปอด ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากของ HFNC เพราะให้ความเข้มข้นออกซิเจนได้สูงพอ สม่ำเสมอ และให้อัตราการไหลออกซิเจนที่สูงมากพอเช่นกัน ถ้าเราเริ่มใช้ตั้งแต่แรกจะช่วยให้การแลกแก๊สดีขึ้น ลดการใส่ท่อช่วยหายใจลงได้มาก
ข้อบ่งชี้ที่นิยมใช้อีกคือ ใช้หลังถอดท่อช่วยหายใจ ใช้ขณะทำหัตถการทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร
การตั้งเครื่อง ให้ตั้งเครื่องที่ FiO2 ประมาณ 40% ก่อน หลังจากนั้นไปปรับอัตราการไหล เริ่มที่ 30 ลิตรต่อนาที (สูตรผมเองนะ) และวัดออกซิเจนปลายนิ้วเพื่อให้ได้ค่าความอิ่มตัวออกซิเจนตามต้องการ (92-99%) หลังจากนั้นเพิ่มอัตราการไหลของออกซิเจนขึ้นไปครั้งละ 5 ลิตรต่อนาที จนได้ค่าออกซิเจนปลายนิ้วที่ต้องการ ถ้าเห็นว่าอัตราการไหลเริ่มสูงถึง 50 ลิตรต่อนาที อาจจะเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจนขึ้นไปได้ถึง 60% เพราะหากอัตราการไหลสูงเกินไป ผู้ป่วยก็อาจไม่สบายตัวได้ ส่วนการปรับอุณหภูมิ ให้เอาที่ผู้ป่วยสบายครับ อย่ายึดถืออุณหภูมิหน้าจอมากนัก
ท่านทั้งหลายอาจจะได้เห็นการใช้ หรืออาจจะได้รับการใส่ ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เครื่องอาจจะไม่คุ้นตา สิ่งที่คนไข้ทุกคนกล่าวถึงเครื่องนี้คือ ลมเป่าจมูกแรง เสียงเครื่องดังตกใจ ให้ใจเย็น ๆ ฟังคุณหมออธิบาย แล้วบอกว่าเราสบายหรือไม่สบายอย่างไร จะได้ปรับแต่งกันและลดการใส่ท่อช่วยหายใจครับ
Drake MG. High-Flow Nasal Cannula Oxygen in Adults: An Evidence-based Assessment. Ann Am Thorac Soc. 2018 Feb;15(2):145-155. doi: 10.1513/AnnalsATS.201707-548FR. PMID: 29144160.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น