ให้ยาและสารน้ำทางกระดูก (intraosseous route)
ในแนวทางการกู้ชีพ 2020 แนะนำการให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำเวลากู้ชีพ แน่นอนว่าหาง่ายสุดเร็วสุดคือ หลอดเลือดดำส่วนปลาย
การให้ยาทางหลอดเลือดดำส่วนกลาง แม้จะให้ยาได้ในขนาดสูงและทำให้ระดับยาเพิ่มได้เร็ว แต่ต้องใช้ความชำนาญและเครื่องมือเครื่องไม้ในโรงพยาบาล ส่วนการให้ยาทางท่อช่วยหายใจ ในอดีตจะมีคำแนะนำการใช้ยาทางนี้ถ้าไม่มีหลอดเลือดดำส่วนปลาย แต่เนื่องจากระดับยาในเลือดจะต่ำหรือคาดเดาลำบาก จึงไม่แนะนำมาตั้งแต่ CPR 2000
อีกหนึ่งวิธีที่แนะนำหากไม่สามารถหาหลอดเลือดดำส่วนปลายได้ คือ การให้ผ่านกระดูก
ตามการศึกษาวิจัยการกู้ชีพทั้งในและนอกโรงพยาบาล ตำแหน่งที่ให้ยาคือ กระดูกหน้าแข้ง ก็แน่นอนเป็นกระดูกที่คลำหาง่าย ขนาดใหญ่ พื้นที่กว้างขวาง สามารถใช้เข็มพิเศษที่ออกแบบมาให้ทางกระดูกเจาะทะลุได้ง่าย ...คืออุปกรณ์มาตรฐานเป็นชุดคิต มีสว่านเล็ก ๆ ใช้เจาะด้วยนะครับ หรือหากที่ใดไม่มี จะใช้เข็มเจาะตรวจไขกระดูกแทนก็ได้ ส่วนเข็มให้น้ำเกลือใช้ไม่ได้นะครับ
เมื่อเจาะทะลุชั้น cortex เข้าสู่ชั้น marrow สามารถฉีดยาเข้าได้เลย ยาที่ใช้คือ epinephrine ครับขนาดก็เท่ากับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ผลการศึกษาที่ออกมาหลัก ๆ มาจากการศึกษาการให้อิพิเนฟรีนนอกโรงพยาบาลที่ชื่อ PARAMEDICS 2 ที่มีการให้ยาทางกระดูกถึง 33% ก็พบว่าใช้ได้เช่นกัน แม้การศึกษาเรื่องระดับยาที่ได้ หรือผลจากการรักษาจะพบว่า การให้ทางหลอดเลือดดำได้ผลดีกว่า แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานและใช้หลอดเลือดไม่ได้ ...ก็คงต้องใช้ทางกระดูก
งานวิจัยออกมาว่า คนที่ให้ยาทางหลอดเลือดดำมีโอกาสรอดสูงกว่า แต่งานวิจัยนั้น ๆ จะโน้มเอียงเพราะกลุ่มคนที่ได้รับการให้ยาทางกระดูก คือ ให้ทางหลอดเลือดดำไม่ได้ซึ่งมักจะเป็นคนที่มีโรคร่วมอยู่แล้วหรืออาการหนักมากนั่นเอง
แต่ชีวิตนี้ผมก็ยังไม่เคยให้ยาทางกระดูกเลยนะครับ และคิดว่าคงยากพอควร เพราะตอนเจาะไขกระดูกก็ใช้แรงระดับหนึ่งเลย แต่รู้ไว้เผื่อเข้าตาจนครับ
ที่มา
1. PARAMEDICS2 trial, N Engl J Med 2018; 379:711-721
2. CPR guidelines 2020, American Heart Associations
3. resuscitation. EDITORIAL. VOLUME 83, ISSUE 1, P7-8, JANUARY 01, 2012
4. Circulation. 2020;141:188–198
5. resuscitation. CLINICAL PAPER. VOLUME 83, ISSUE 1, P40-45, JANUARY 01, 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น