TIA transient ischemic attack คือโรคสมองขาดเลือดนั่นเอง แต่ว่าขาดเลือดเพียงชั่วคราว อาการที่พบคืออาการของอัมพาตตามตำแหน่งหลอดเลือด และหายกลับคืนสภาพเดิมได้เอง และต้องไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการถ่ายภาพรังสี (แต่ต้องใช้ MRI-DWI นะ)
ส่วนมากอาการมักจะหายใน 1 ชั่วโมง (จริง ๆ ก็ 10-15นาที) ต่างจากคำจำกัดความเดิมที่หายใน 24 ชั่วโมง เพราะเรามีการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดที่ดีในสมองขาดเลือด ถ้าเราคิดว่าเป็น TIA แล้วรอนานขนาดนั้น คงเสียโอกาสการรักษาสมองขาดเลือดที่ขาดจริงและไม่คืนสภาพ
เกิด TIA อย่าคิดว่าโชคดีนะ ที่ไม่เป็นอัมพาต !!
มีการศึกษามากมาย แถมยืนยันไปในทางเดียวกันด้วยว่า หากเกิด TIA แล้ว โอกาสเกิดขาดเลือดของจริงจะสูงมาก โดยเฉพาะในสามเดือนแรก 30-40% เลยทีเดียว และยิ่งหากติดตามระยะยาวดังเช่นการศึกษานี้ เขาติดตามผู้ป่วยที่อยู่ใน Framingham Heart Study คือการศึกษาความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดขนาดใหญ่และติดตามยาวนานมาก โดยเอาข้อมูลย้อนหลังมาวิเคราะห์เทียบกันว่า ในคนที่เคยมี TIA เมื่อติดตามระยะยาวจะมีโอกาสเกิด Stoke มากกว่าคนที่ไม่เคยเกิด TIA สักเท่าไรกัน
ติดตามระยะยาว ประมาณ 60 ปี ตามจนผลัดชั่วอายุคน ได้คนมาวิเคราะห์ 14000 กว่าคน เมื่อปรับตัวแปรเริ่อง เพศ อายุพบว่า คนที่เคยเกิด TIA มีโอกาสเกิดอัมพาตมากกว่าคนที่ไม่เคยมี TIA สูงประมาณ 4 เท่าในการติดตามที่ 10 ปี
เป็นอาการเตือนที่แท้จริง และต้องเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยง ไม่ว่าจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย ลดไขมัน ควบคุมปัจจัยโรคร่วม ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดและยาลดไขมัน สิ่งต่าง ๆ นี้จะลดโอกาสเกิดอัมพาตในอนาคตได้ครับ
เหมือนคว้าแชมป์ฤดูกาลที่แล้ว ก็มีโอกาสคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้สูงมากเช่นกัน
Lioutas V, Ivan CS, Himali JJ, et al. Incidence of Transient Ischemic Attack and Association With Long-term Risk of Stroke. JAMA. 2021;325(4):373–381. doi:10.1001/jama.2020.25071
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น