เราจะควบคุมเบาหวานที่ระดับน้ำตาลเท่าไรดี : ADA 2021
ก่อนที่เราจะไปที่เนื้อหา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นี่คือเป้าหมายระดับน้ำตาล ไม่ใช่เป้าหมายการรักษา ยังต้องมีการรักษาอีกมากนอกจากแค่การควบคุมระดับน้ำตาล และแม้ระดับน้ำตาลได้เป้าหมาย ก็ยังไม่นับว่าสำเร็จ ต้องบรรลุเป้าหมายอื่นเช่น การระวังโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือด การป้องกันโรคหัวใจ เป็นต้น
เราใช้ระดับ Hemoglobin A1c วัดน้ำตาลที่เกาะกับเม็ดเลือดแดง จึงมีอายุในการตรวจเท่าอายุเม็ดเลือดแดง บ่งบอกระดับน้ำตาลเฉลี่ยในช่วงสามเดือน คำแนะนำตรวจปีละอย่างน้อย 2-4 ครั้ง
ทำไมถึงใช้ระดับ A1c เพราะว่า มันสัมพันธ์ชัดเจนกับผลแทรกซ้อนของเบาหวาน ยิ่งสูง ยิ่งนาน ยิ่งแย่ สัมพันธ์มากกว่าระดับน้ำตาลปลายนิ้ว และพอกันกับระดับน้ำตาลที่ตรวจตลอดเวลา (continuous glucose monitoring) ถ้าได้มาตรฐานการตรวจ จะทำให้การติดตามการรักษาสะดวกมาก เพราะไม่ต้องงดอาหารมาตรวจแต่อย่างใด
ระดับน้ำตาลที่ควรเป็นในผู้ป่วยเบาหวานที่ยังแข็งแรงดีและไม่มีโรคร่วมคือ HbA1c ไม่เกิน 7%
ระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวมาก คือ ไม่เกิน 8.0%
ประมาณค่า HbA1c กับผลระดับน้ำตาลในเลือดคือ
6.0% = 126 mg/dL
7.0% = 154 mg/dL
8.0% = 183 mg/dL
ส่วนการตรวจโดยใช้เครื่องติดตามตลอดเวลา (CGM) จะขึ้นกับระดับ target range ที่เราตั้ง และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าอยู่ในช่วงที่เราต้องการ หรือมากกว่าน้อยกว่ากี่เปอร์เซนต์ ประมาณค่าใน target range ประมาณ 70% ของค่าที่ตรวจทั้งหมด (การตรวจนี้ไม่แพร่หลายเท่าการตรวจเลือด) และผู้ใช้มักจะรู้วิธีการจัดการดีอยู่แล้ว
การติดตามด้วยน้ำตาลในเลือดหรือน้ำตาลปลายนิ้ว ทำได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ยังบอกผลแทรกซ้อนระยะยาวได้ไม่ดีเท่า HbA1c มันก็ยังมีที่ใช้แต่ลดบทบาทลง เวลาพูดกันถึงเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาล จึงพูดถึงเรื่อง Hemoglobin A1c เป็นหลักนั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น