02 เมษายน 2561

ข้อระวังการใช้ยาอดบุหรี่ varenicline

การเลิกบุหรี่ หลายๆคนนึกถึงบุหรี่ไฟฟ้า หลายคนนึกถึงการหักดิบ หลายคนคิดถึงหมากฝรั่งนิโคติน หลายๆคนลืมไปว่าเรามียาอดบุหรี่

   ประสิทธิภาพของยาอดบุหรี่เรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ varenicline > bupropion > nortriptyline และหากใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ชดเชยนิโคติน ไม่ว่าหมากฝรั่ง,แผ่นแปะ,ยาสูด หรือเม็ดอม จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้ารับการรักษาทั้งหมดนี้ หากทำในคลินิกเลิกบุหรี่จะมีความสำเร็จสูงกว่า ทำเอง ซื้อมาใช้เอง

  เว็บไซต์ medscape ได้ทำแบบทดสอบเพิ่มการเรียนรู้ CME ที่สรุปมาจากการศึกษาสองอันเกี่ยวกับผลอีกด้านของยาอดบุหรี่ varenicline ที่แม้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็มีรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงเรื่องโรคหัวใจและภาวะทางจิตประสาทพอสมควร
  เคยมีการศึกษาว่าในคนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคทางจิตเวชหรือเป็นโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว การใช้ยาจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคจิตเวชจริง แต่สัดส่วนไม่มากนัก
  สำหรับโรคหัวใจ มีการศึกษาว่าในระยะสั้นปลอดภัยและการเฝ้าสังเกตในระยะยาวก็พบอัตราโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้จริง แต่ว่าไม่ได้มากนัก

เรามาดูสรุปผลการศึกษาหลายๆอัน

  สำหรับโรคหัวใจ ได้มีการรวบรวมการศึกษาหลายๆอันมาแล้วก็พบว่าคนที่ใช้ยา varenicline มีโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ชัดเจน ทั้งคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วและไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วแบบนี้จะอันตรายหรือไม่
  คำตอบคือ หากถ้าเทียบว่ายาทำให้เลิกบุหรี่ได้ และการเลิกบุหรี่ก็ทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจลดลงหลายเท่า มากกว่าอันตรายจากยาแบบเทียบไม่ได้ ก็ถือว่าสำหรับภาพรวมแล้วคุ้มค่ามาก ส่วนในรายบุคคลให้พิจารณาคุยผลดีเสียและเฝ้าระวังเป็นรายคน
...เรียกว่าปรับการรักษาเป็นรายๆเฉพาะคน...

  สำหรับโรคจิตเวช จากการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดโรคทางจิตเวชนั้นพบว่ากลุ่มที่ใช้ยามีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้เช่นกัน แต่ก็จะชัดเจนในผู้สูงวัย ไม่พบในวัยรุ่น  แล้วแบบนี้จะอันตรายหรือไม่
  คำตอบคือ ก็ยังปลอดภัยหากก่อนใช้ประเมินภาวะทางจิตเวชสักเล็กน้อย ความคิดฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าและยาจิตเวชที่ใช้ ถ้าเสี่ยงก็อาจต้องเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น
  แต่ถ้าในภาพรวมการลดอันตรายจากบุหรี่โดยใช้ยายังคุ้มค่าเพราะอัตราการเกิดโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นนั้นยังน้อยมากเมื่อเทียบว่าประโยชน์จากการหยุดบุหรี่มันมากมาย
...เรียกว่าปรับการรักษาเป็นรายคนเช่นกัน...

  ทั้งสองข้อสรุปนี้ บอกได้ว่าการเข้ารับการเลิกบุหรี่นั้นจะต้องปรับตามผู้ป่วยแต่ละคน ติดมากติดน้อย ใช้ยาได้ไหม มีข้อจำกัดอะไร คงไม่สามารถใช้คำแนะนำเดียวกันได้ทุกคน คงไม่สามารถใช้ยาตัวเดียวกันได้ทุกคน  ยามีประโยชน์มากแต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน
   ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลิกได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในครั้งเดียว คนไข้ต้องใจสู้ ทีมต้องอดทน ครอบครัวต้องช่วย

  ศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีศิลปะอันใหญ่ยิ่ง ... จึงจะประสบความสำเร็จได้

ที่มาจาก medscape CME

Cahill K, Stevens S, Perera R, Lancaster T. Pharmacological interventions for smoking cessation: an overview and network meta-analysis.Cochrane Database Syst Rev. 2013;(5):CD009329. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/14651858.CD009329.pub2/abstract. Accessed January 2, 2018.

Gershon AS, Campitelli MA, Hawken S, et al. Cardiovascular and neuropsychiatric events following varenicline use for smoking cessation. Am J Respir Crit Care Med. Published online December 20, 2017. https://www.atsjournals.org/doi/10.1164/rccm.201706-1204OC. Accessed January 2, 2018.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม