28 เมษายน 2561

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 3

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 3
1. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ที่ใช้ในปัจจุบันแบ่งเป็นยาฉีดและยากิน ยาฉีดส่วนมากจะให้ในโรงพยาบาล ยากินเราจะให้ไปกินที่บ้าน จึงจะเน้นที่ยากิน
2. ยาฉีดเฮปาริน ส่วนมากยานี้จะหยดเข้าทางหลอดเลือด ออกฤทธิ์เร็วหมดฤทธิ์เร็ว มียาต้านฤทธิ์ แต่ต้องตรวจเลือดเพื่อปรับยาทุกหกชั่วโมง และระดับยาก็ไม่ค่อยคงที่ ใครที่หมอให้ยานี้ต้องอดทนนะครับ
3. ยาฉีดที่นิยมมากในปัจจุบันเรียกว่า Low Molecular Weight Heparin คือยาข้อสองมาดัดแปลง สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือหลอดเลือดได้ ยาออกแบบมาเป็นเข็มพร้อมใข้ฉีดแล้วทิ้ง ฉีดวันละหนึ่งถึงสองครั้ง ใช้มากคือ Enoxaparin และ Tinzaarin
4. ข้อบ่งชี้ที่นิยมไปใช้ที่บ้านคือ หลอดเลือดดำอุดตันอันมีสาเหตุจากมะเร็ง ฉีดวันละหนึ่งครั้ง ฉีดที่พุง ข้อผิดพลาดสำคัญคือ ฉีดลึกไปที่กล้ามเนื้อโดยเฉพาะตรงซิกส์แพ็คในคนผอมๆ ทำให้เลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อได้
5. ดังนั้นเวลาฉีดต้องทบทวนดีๆ ฉีดพุง หยิบไขมันขึ้นมาและอย่าจิ้มลงไปตรงๆเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันอันตราย
6. ยากินที่ใช้มานาน แพร่หลายและยังใช้ได้ดี (เพราะราคาถูกมาก) คือ วอร์ฟาริน (warfarin) ยาตัวนี้คาดเดาการออกฤทธิ์ไม่ได้เลย ดังนั้นการเจาะเลือดเพื่อปรับยาจึงสำคัญมาก กาดอกจันสามสิบสามดวง
7. ไม่ควรปรับยาเอง กินเกินก็มีโอกาสเลือดออก กินไม่ถึงก็ไม่ช่วยอะไร ...ยาตัวนี้มีปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกันมากมาย ใครกินยาอื่นๆร่วมกับยานี้ ปรึกษาเภสัชกรได้เลยครับ ต้องทำด้วย ปัญหาหลักของระดับยาไม่ดีคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา
8. กินผักมากๆ ระดับยาไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ต้องกินปริมาณเท่าๆกันสม่ำเสมอ
9. ยาออกฤทธิ์ช้า ช่วงแรกๆจะต้องฉีดยาในข้อสามคู่กันไปก่อน และหมดฤทธิ์ช้า หากจะหยุดยาเพื่อการผ่าตัดก็ต้องใช้เวลาประมาณ ห้าวัน
10. ผ่าตัดที่ไม่เสี่ยงเลือดออก อาจไม่ต้องหยุดยา หากเสี่ยงเลือดออกต้องหยุดยา ในกรณีหยุดยาแล้วเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดสูง ต้องให้ยาในข้อสามคั่นกลางเอาไว้ก่อนผ่าตัด และเมื่อการผ่าตัดเรียบร้อยก็กลับมากินตามเดิม
*** ไม่ใช่ทุกการผ่าตัดที่ต้องหยุดยา และไม่ใช่ทุกคนที่หยุดยาจะต้องใช้ยา enoxaparin เพื่อป้องกันคั่นกลางเอาไว้***
11. เพราะว่า warfarin มีข้อจำกัดมาก จึงมียาใหม่คือ Non-Vitamin K oral anticoagulantที่ออกฤทธิ์จุดเดียว ปฏิกิริยาระหว่างยาน้อย ไม่ต้องติดตามผลด้วยการเจาะเลือด ข้อเสียคือแพงมาก
12. ยาใหม่ประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดดำอุดตันที่ขาหรือที่ปอด พอๆ กับ warfarin แต่ว่าผลข้างเคียงเลือดออกโดยเฉพาะเลือดออกในศีรษะน้อยกว่ามาก ส่วนการป้องกันอัมพาตในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ atrial fibrillation ประสิทธิภาพดีกว่า warfarin และเลือดออกน้อยกว่าด้วย
13. แต่เลือดออกในทางเดินอาหารพบในยาใหม่มากกว่า Warfarin ซึ่งจากการศึกษาและติดตาม ไม่รุนแรงนัก
14.รู้จักชื่อยาใหม่กัน Rivaroxaban, Apixaban, Edoxaban, Dabigatran การศึกษาส่วนมากจะจำกัดในผู้สูงวัย ดังนั้นถ้าจะใช้ในผู้สูงวัยต้องระวัง ส่วนมากยาขับทางไต การประเมินการทำงานของไตก่อนให้ยาจึงสำคัญมาก
15. มีวิธีการประเมินว่ายาหมดฤทธิ์หรือยัง ถ้าเลือดออกมาจะทำอย่างไร จะผ่าตัดจะทำอย่างไร จะเริ่มยาเมื่อไร ยาต้านฤทธิ์คือ Idarucizumab มีในไทยแล้ว ส่วน andexanet alfa กำลังเข้ามา จริงๆหากฉุกเฉินให้เลือดและผลิตภัณฑ์การแข็งตัวของเลือดที่มีใช้อยู่ตอนนี้ก็รักษาได้
ยาใหม่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด (จริงๆก็ไม่ใหม่แล้ว)
ขอขอบคุณการบรรยายของ อ.พลภัทร์ โรจน์นครินทร์ และ อ.บุญฑริกา สุวรรณวิบูลย์ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
แจกแนวทางสำหรับแพทย์ ฟรี
อันนี้สุดๆ https://journal.chestnet.org/…/S0012-3692(12)60127…/fulltext หรือที่ลิงก์นี้ก็ได้ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3620915/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม