11 เมษายน 2561

"สร้าง" ท่อลม trachea

หนึ่งในเรื่องน่าทึ่ง ความพยายามที่จะเอาชนะโรคที่แสนทรมาน
วารสาร New England Journal of Medicine 5 เมษายน 2561 ได้ลงเรื่องราวของความมหัศจรรย์ทางการรักษาเอาไว้ เรื่องราวเกี่ยวกับการดัดแปลงชิ้นส่วนของร่างกายมาแทนที่ส่วนที่เสียไป
เรื่องราวเกิดที่ฝรั่งเศส เด็กหญิงคนหนึ่งเกิดมาพร้อมกับปัญหา ท่อทางเดินหายใจส่วน trachea ตีบแคบมาตั้งแต่กำเนิด เธอเริ่มทรมานและรักษาตัวมาตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนตอนนี้อายุ 12 ปี ด้วยสารพัดวิธีและทุกวิธีล้มเหลว
คั่นจังหวะนิดนึง ท่อลมส่วน trachea เป็นส่วนท่อลมที่อยู่ต่อจากกล่องเสียง (กระเดือก) ลงไปจนถึงขั้วปอดและแยกออกเป็นหลอดลมใหญ่ซ้ายและขวา ไปที่ปอดทั้งสองข้าง (main bronchus) ท่อลมส่วนนี้จะอยู่ในจุดที่ความดันลมในท่อและความดันลมนอกท่อ มีความดันพอๆกันและมีแนวโน้มว่าความดันลมในท่อจะต่ำกว่านอกท่อเล็กน้อย (ตามกลไกการหายใจของมนุษย์) ธรรมชาติจึงสร้างให้มีโครงกระดูกอ่อนค้ำยันเอาไว้ ไม่ให้ท่อยุบลงมาอุดทางเดินหายใจ
ในโรคท่อส่วนนี้ตีบแคบแต่กำเนิด คนไข้จะหายใจลำบากมาก ต้องใส่อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เทียม ภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังและการระบายเสมหะไม่ดี ส่งผลเสียที่รุนแรงมาก
ในเด็กหญิงคนนี้ เธอต้องผ่าตัดหลายครั้งเพื่อใส่ท่อเทียม ซ่อม แก้ไข สภาพชีวิตก็พบแต่ปอดอักเสบติดเชื้อ เคยหัวใจหยุดเต้นและกู้ชีวิตคืนมาได้สองครั้ง เธอรอดมาได้แต่ก็อยู่ในสภาพอมโรค อายุ 12 ปีแต่น้ำหนักตัว 20 กิโลกรัมเท่านั้น เท่ากับเด็กหกขวบเอง
ล่าสุด พ่อแม่ของเธอถอดใจ ยอมรับสภาพ คิดว่าตัวคนไข้เองคงจะทุกข์ทรมานแสนสาหัส
แต่ทว่า.. !!! กลุ่มศัลยแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจทำการรักษา "สร้าง" ท่อลม trachea ขึ้นมาจากอวัยวะของเธอเอง พ่อแม่และตัวเธอตอบตกลงการผ่าตัดนี้
เพราะเป็นการซ่อมทางเดินหายใจหลัก ต้องใช้เวลานาน เธอต้องใข้เครื่อง "ECMO" เครื่องปอดเทียมชั่วคราว นำเลือดออกไปแลกเปลี่ยนแก๊สนอกร่างกายช่วงผ่าตัด คณะแพทย์ตัดท่อลมส่วนที่ตีบของเธอ เป็นความยาวทั้งสิ้น 12 เซนติเมตร เหลือกระดูกอ่อนวงแรกและวงสุดท้ายเอาไว้ยึดเกาะท่อเทียม
หลังจากนั้นตัดกล้ามเนื้อหลัง (lattisimus dorsi : ปีกหลัง) พร้อมผิวหนังเพื่อมาทำเป็นท่อ ตัดมาเป็นแผ่นแล้วมาม้วนคล้ายทองม้วน โดนเอาผิวหนังเป็นด้านในท่อ ส่วนกระดูกค้ำยันที่จะมาเป็นโครงก็ตัดมาจากกระดูกอ่อนซี่โครงมาสอดเป็นแกน
แล้วม้วนท่อ และเย็บติด โดยใช้ท่อซิลิโคนนิ่มๆเป็นแบบก่อน (เดี๋ยวดึงออก) หลังจากนั้นไปยึดติดแทนที่ท่อลมเดิมที่ถูกตัดออกไป (ยังมีแกนท่อซิลิโคนอยู่นะครับ)
ใส่ท่อหายใจ (ท่อเจาะคอ) เอาไว้ก่อน เผื่อตีบแคบและเพื่อตรวจสอบท่อเทียมและดูดเสมหะ
หลังการผ่าตัดทุกอย่างเรียบร้อยดี เก้าวันหลังจากผ่าตัด คณะแพทย์นำท่อซิลิโคนแกนกลางออก น่าจะรอให้แผลติดแน่นดีนั่นเอง เธอต้องอยู่ในไอซียูอีกรวมทั้งสิ้น 55 วัน (ถือว่านานมาก) โดยดูดเสมหะออกตลอด รวมทั้งเศษผิวหนังที่ตายด้วย เพราะเนื้อเยื่อผิวหนังจะหลุดลอก และผิวหนังไม่มีระบบการลำเลียงเสมหะมาทิ้งเหมือนเนื้อเยื่อท่อลมของแท้ จึงต้องดูแลทางเดินหายใจนี้ดีๆ
68 วันหลังจากผ่าตัด เธอได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน โดยใส่ท่อเจาะคอไปก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่าท่อลมเทียมนั้นใช้ได้
สองปีหลังผ่าตัด เธอปกติดี น้ำหนักเริ่มขึ้น ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอม คณะแพทย์จึงตัดสินใจถอดท่อเจาะคอออก (มีแก้ไขส่วนที่ตีบบ้างเล็กน้อย แต่ก็เรียบร้อยดี) ทุกอย่างสำเร็จ
ทุกวันนี้ เด็กหญิงมีอายุ 15 ปี ความเป็นอยู่สบายดี ไม่มีการติดเชื้อ ท่อลมไม่ตัน ไม่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันเหมือนรายที่เปลี่ยนอวัยวะทั่วไป น้ำหนักขึ้นและเธอตั้งใจทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพตัวเอง และติดตามต่อไปว่าหลังจากนี้ในระยะยาวจะเกิดปัญหาหรือไม่
ความพยายามที่สุดยอดที่จะชนะโรคร้าย ความพยายามอย่างมากของคณะแพทย์ แต่ถ้าถามผมว่าใครยอดเยี่ยมที่สุด ... ไม่ใช่คณะแพทย์ ไม่ใช่พ่อแม่ ...แต่คือเด็กหญิง ที่สู้อดทนทรมานมาตลอดสิบห้าปี ติดเชื้อสารพัดครั้ง ผ่าตัดหลายสิบครั้ง แต่เธอก็สู้ ไม่ยอมแพ้ไม่ลดละ
หากวันใดมนุษย์เราละทิ้งความหวัง วันนั้นคือวันที่สูญสิ้นอย่างสมบูรณ์
ขอบคุณเด็กหญิงผู้อดทน ที่มาเป็นแบบอย่างช่วยให้กำลังใจพวกเราครับ
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม