การวินิจฉัยวัณโรคโดยการใช้วิธีตรวจสารพันธุกรรม
ก่อนหน้านี้เรามีการตรวจเสมหะ หรือสิ่งส่งตรวจต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจเช่น น้ำล้างหลอดลม นำมาตรวจย้อมเชื้อด้วยสีทนกรด (Acid fast stain) แล้วส่องกล้องดู วิธีนี้ถ้าพบเชื้อก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นเชื้อก่อโรคแน่นอน แต่ถ้าไม่พบ อาจจะเป็นเพราะส่วนที่เก็บมาไม่มีเชื้อ หรือการย้อมทำได้ไม่ดี หรือปริมาณเชื้อน้อย
เราจะยืนยันด้วยการเพาะเชื้อ ที่สามารถนำเชื้อที่เพาะได้ไปตรวจสอบหาการดื้อยาได้อีกด้วย แต่กระบวนการเพาะเชื้อใช้เวลานานมาก บางครั้งนานกว่าสามเดือน
ปัจจุบันเราจึงใช้วิธีตรวจสารพันธุกรรมของวัณโรคกันมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ทุกวันนี้ตรวจได้ง่าย ได้ผลเร็ว และราคาไม่แพง เช่น การเพิ่มสารพันธุกรรมแล้วตรวจโดย RT-PCR ที่มีชุดการตรวจหลายแบบ หรือใช้วิธี reverse hybridization นอกเหนือจากการตรวจว่ามีหรือไม่มีสารพันธุกรรมของเชื้อในตระกูล Mycobacterium ได้แล้ว ยังสามารถแยกได้อีกด้วยว่า mycobacterium ที่ตรวจพบนั้นเป็นเชื้อวัณโรคหรือไม่ใช่วัณโรค ซึ่งหากใช้การย้อมสีทนกรด เชื้อทั้งสองนี้จะติดสีทนกรดเหมือนกัน จะต้องไปย้อมพิเศษอีกต่อหนึ่ง
ถ้าเราอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี 2015 เกี่ยวกับการจัดการวัณโรคจะพบว่าวิธีการตรวจโดยสารพันธุกรรมนี้ มีความไว92% และมีความจำเพาะ 99% ในขณะที่การย้อมสีเสมหะมีความไวเพียง 68% และมีความจำเพาะ 98%
และเพิ่มไปอีกว่าการตรวจทางพันธุกรรมนี้สามารถตรวจหายีนดื้อยาของวัณโรคได้ด้วย ทำให้เราสามารถตัดสินใจเปลี่ยนยาได้เร็วขึ้นหากการรักษาล้มเหลว โดนเฉพาะยีนดื้อยาสองตัวหลักคือ isoniazid และ rifampicin เราเรียกการตรวจหาความไวของยาแบบนี้ว่า genotypic drug sensitivity test ส่วนการตรวจความไวและการตอบสนองต่อยาแบบเดิมจะทำจากเชื้อที่เพาะขึ้น เอามาใส่ยาแล้วดูการตอบสนองเรียกว่า phenotypic drug sensitivity test
แต่เนื่องจากการตรวจทางพันธุกรรมยังทำได้เพียงไม่กี่ที่และค่าใช้จ่ายยังแพงกว่าการตรวจมาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันเรายังใช้อาการ อาการแสดง ฟิล์มเอ็กซเรย์ และการตรวจย้อมสีเสมหะ เป็นการตรวจหลักที่ราคาไม่แพงและมีความจำเพาะสูงไม่แพ้การตรวจสารพันธุกรรม
แต่ในอนาคต คงจะมีการตรวจแบบนี้มากขึ้นและไม่เพียงแต่วัณโรคเท่านั้น การตรวจสารพันธุกรรมจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการวินิจฉัยโรคติดเชื้ออย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น