01 เมษายน 2564

คำถามคำตอบเกี่ยวกับลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดของแอสตร้าซีเนก้า

 คำถามคำตอบเกี่ยวกับลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดของแอสตร้าซีเนก้า

จากรายงานของแคนาดา เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคลิ่มเลือดดำอุดตันอันเนื่องมาจากการรับวัคซีนโควิด-19 (VIPIT) ของแอสตร้าซีเนก้า มาพร้อมคำแนะนำการวินิจฉัยและการรักษา ใครสนใจไปอ่านฉบับเต็มได้ สำหรับแฟนเพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว ผมขอบอกเล่าดังนี้

🚩🚩เกิดกับวัคซีนทุกตัวไหม ?

ยี่ห้ออื่นก็มีรายงานบ้าง แต่รายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ชัดเจนเฉพาะกับวัคซีนโควิดของแอสตร้าซีเนก้าเท่านั้น

🚩🚩แล้วจะฉีดวัคซีนตัวนี้ได้ไหม ?

ยังฉีดได้และแม้แต่ทางแคนาดาก็ยังให้ฉีดต่อ เพราะว่าบวกลบคูณหารแล้ว ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนยังมากกว่าโทษตรงจุดนี้แบบไม่เห็นฝุ่น จากรายงานพบว่าโอกาสเกิดลิ่มเลือดนี้ 1 ต่อ 125,000 จนถึง 1 ต่อล้าน แต่ถ้าให้ประชากรป่วยเป็นโควิด-19แล้ว ทุก 100 คนต้องเข้าไอซียูหนึ่งคน

🚩🚩ตัวโควิดเองก็ทำให้เกิดลิ่มเลือด ?

ใช่แล้ว มีการศึกษามากมายว่าการติดเชื้อโควิดก็กระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด และมีผู้ป่วยอาการหนักอันเกิดจากลิ่มเลือดเช่นกัน แถมโอกาสเกิดจากรายงานนี้คือเกิดหนึ่งคน ต่อผู้ป่วยโควิดทุก 5 คน ตัวเลขที่เกิดมันน่ากลัวมากกว่าลิ่มเลือดจากวัคซีนเป็นหมื่นเท่า

🚩🚩แล้วถ้าต้องฉีดจะทำอย่างไร ?

ให้สังเกตอาการคล้ายอัมพาต ปวดหัวรุนแรง หอบเหนื่อย หรือพูดง่าย ๆ ว่าหลังฉีดวัคซีน 4-20 วัน หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ อันนี้ทุกยี่ห้อเลยนะ

🚩🚩แล้วจะตรวจทราบหรือ ?

การตรวจแน่นอนนั้นยากและอาจไม่ทัน เราใช้ประวัติรับวัคซีนมาใน 20 วันบวกอาการของลิ่มเลือดดำอุดตัน ตรวจเกล็ดเลือดพบว่าต่ำและตรวจ d-dimer สูง ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาทำได้ทุกที่ เข้าเกณฑ์ก้สงสัยและรักษาได้เลย

🚩🚩แล้วเรามียารักษาไหม ?

เรารักษาเหมือนลิ่มเลือดดำอุดตันทั่วไปนี่แหละครับ แต่ในกรณีนี้เชื่อว่ากลไกเกิดจากภูมิคุ้มกันของเราทำงานเกิน คล้ายโรค heparin induced thrombocytopenia เราจึงไม่ใช้เฮปาริน

แต่จะใช้ยา Factor Xa inhibitors คือยาใน edoxaban-rivaroxaban-apixaban ในการรักษาแทน ซึ่งตอนนี้มีกระจายทั่วประเทศแต่อาจจะไม่ครบทุกโรงพยาบาล

และในกรณีรุนแรงมากก็อาจให้ยา intravenous immunoglobulins ที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศก็มี

🚩🚩ประกาศบอกว่า ถ้าอายุน้อยกว่า 55 ไม่ควรฉีดหรือ ?

ไม่ใช่ห้ามฉีด เพียงแต่ต้องระวังมากขึ้น (ควรระวังทุกคนนะ) เพราะข้อมูลที่เก็บมาได้นั้น มักจะเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันในคนอายุน้อยกว่า 55 และเกิดกับหญิงมากกว่าชาย แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามฉีด และคนที่อายุมากก็ต้องระวังเหมือนกัน

🚩🚩สรุปฉีดได้ไหม ?

ฉีดได้ และต้องเฝ้าระวังอาการ ทางสาธารณสุขก็ต้องพร้อมรับมือ มียาหลายชนิดที่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ เช่นยาลดไขมันสเตติน ที่มีข้อมูลพบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่จริงในปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนที่ยาปกป้องได้และลดความสูญเสียได้

ทราบข้อมูลไว้ คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ แต่ตอนนี้เรารู้มากขึ้นและเฝ้าระวังได้มากขึ้นครับ เราจะได้กลัวลดลงและใช้วิจารณญาณมากขึ้น

อ้อ...ข้อมูลน่าจะยังออกมาอีกเรื่อย ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ได้ ต้องติดตามต่อไปนะครับ

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม