22 เมษายน 2564

บุหรี่ขึ้นราคา คนจะสูบน้อยลงไหม

 บุหรี่ขึ้นราคา คนจะสูบน้อยลงไหม ?

คิดตามกลไกตลาดธรรมดา มันก็น่านะน้อยลงนะครับ แต่อย่าลืมว่านี่คือสารเสพติด เวลาคิดอุปสงค์ทางเศรษฐศาสตร์อาจต้องคูณสามยกกำลังสี่ และยังมีเรื่องของบุหรี่เถื่อนที่อยู่นอกระบบอีก เอาล่ะ ถ้าเราตัดปัจจัยรบกวนต่าง ๆ เหล่านี้แล้วไปดูงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นกัน (แบบสรุปนะครับ)

คณะผู้วิจัยที่ญี่ปุ่นเขาวางแผนเพื่อเก็บตัวอย่างศึกษากลุ่มคนวัยกลางคน ติดต่อกันระยะยาว แบ่งเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลหลายช่วง ประเด็นสำคัญคือในช่วงเวลาทั้งหมดที่เก็บข้อมูลจะครอบคลุมการขึ้นภาษีบุหรี่และการปรับขึ้นราคาบุหรี่ ทำให้เราเห็นผลจากการขึ้นภาษีและขึ้นราคาในระยะยาวได้

โดยมีการปรับราคา 3 ครั้งในปี 2006,2010 และ 2014 เมื่อขึ้นภาษีแล้วราคาบุหรี่ซองขยับขึ้นจากเดิมครั้งละ 11% ตามมาด้วย 37% สุดท้ายคือ 5% ถ้ามองให้เห็นภาพคือบุหรี่ยี่ห้อ mild seven ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นเพิ่มราคาจาก 270 เยนเป็น 430 เยน ในเวลา 8 ปี

โดยวัดความสำเร็จที่การหยุดชั่วคราว การหยุดต่อเนื่องมาอย่างน้อยหนึ่งปี และการหยุดต่อเนื่องมาอย่างน้อยสองปี มีการปรับตัวแปรทั้งเพศ กลุ่มอายุ รายได้ สภาพสังคม (ที่ต้องปรับก็มีเหตุผลเช่น คนรวยคงไม่สนราคาที่ปรับขึ้น แต่มีผลมากกับคนรายได้น้อย) ระดับการติดบุหรี่ โรคร่วมที่เกิด เพื่อทำให้ปัจจัยต่าง ๆ เสมอกัน เราจะได้ไปเปรียบเทียบ ราคาที่เพิ่ม กับ การหยุดบุหรี่ ได้อย่างยุติธรรมมากขึ้น มีตัวแปรรบกวนน้อยที่สุด

ตัวอย่างเป็นคนอายุ 50-65 ปี เป็นผู้ชายเสีย 80% ปริมาณการสูบส่วนมากประมาณวันละหนึ่งซอง กลุ่มตัวอย่าง 43,630 คน

พบว่าปริมาณผู้สูบบุหรี่ จาก 8533 คน ลดลงมาเป็น 4224 คน โดยกลุ่มคนที่หยุดสูบได้มากที่สุด คือกลุ่มที่สูบมากกว่าวันละซอง (อาจเป็นเพราะเขาใช้เงินมากในการซื้อบุหรี่จึงกระทบมาก) และถ้าเรามองในภาพรวม เมื่อราคาปรับเพิ่ม 11% สัดส่วนของคนที่หยุดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.23 เท่า เมื่อเทียบกับราคาปรกติ และเมื่อเพิ่มราคาไปอีก 37% สัดส่วนของคนที่หยุดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.85 เท่าเมื่อเทียบกับราคาปรกติ ซึ่งตรงกันกับการศึกษาเรื่องผลของราคาบุหรี่ที่ทำทั้งโลก ที่อเมริกาได้ตัวเลข ผู้สูบบุหรี่ลดลง 9% ทุก ๆ หนึ่งดอลล่าร์ของราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น

เมื่อแยกคิดตามตัวแปรต่าง ๆ เช่น เงินเดือนมากน้อย สูบบุหรี่มากน้อย ผลก็แตกต่างกันบ้างแต่ในภาพรวมไปในทางเดียวกันคือ บุหรี่ราคาสูงขึ้นส่งผลทำให้การสูบลดลง แต่รูปแบบงานวิจัยแบบนี้ยังมีความแปรปรวนอีกมาก เนื่องจากรวบรวมกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันเยอะ ผลการศึกษาจะกระจาย และที่สำคัญคือเป็นการสอบถามเท่านั้น ไม่มีการยืนยันด้วยวิธีทางแล็บว่าหยุดบุหรี่จริงหรือไม่

แต่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางและมาตรการของการควบคุมยาสูบครับ (อย่าลืมย้อนไปอ่านย่อหน้าแรกอีกครั้ง)

ที่มา (preprinted version)
Keisuke Matsubayashi, MD, MSc, Takahiro Tabuchi, MD, PhD, Hiroyasu Iso, MD, MPH, PhD, Tobacco Price Increase and Successful Smoking Cessation for Two or More Years in Japan, Nicotine & Tobacco Research, Volume 23, Issue 4, April 2021, Pages 716–723, https://doi.org/10.1093/ntr/ntaa178

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ หนึ่งคนขึ้นไป, เครา, ผู้คนกำลังสูบบุหรี่ และสถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม