07 เมษายน 2564

great saphenous vein

 เรายังวนเวียนอยู่แถวขาหนีบครับ และวันนี้จะเริ่มต้นด้วยคำถาม อะไรเอ่ย ย้าวยาว จากขาหนีบถึงตาตุ่ม .... ใช่แล้ว มันคือหลอดเลือดดำซาฟีนัสใหญ่ หรือ great saphenous vein

หลอดเลือดนี้ great saphenous vein ถือเป็นหลอดเลือดดำที่ยาวที่สุดของร่างกายมนุษย์ครับ ขอเรียกย่อว่า GSV แล้วกัน มันเริ่มต้นจากการรวมรวมแขนงเครือข่ายหลอดเลือดดำที่หลังเท้า มารวมที่บริเวณตาตุ่มด้านใน พาดทอดยาวใต้ผิวหนัง บนมัดกล้ามเนื้ออันใหญ่ยักษ์ของท่อนขา มาเทเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ของขาตรงขาหนีบ ถ้าใครยังจำ superficial epigastric, superficial circumflex iliac เมื่อตอนที่แล้วได้ ก็คือจุดเดียวกันกับที่ GSV เทเข้าหลอดเลือดดำ femoral ครับ

หรือใครอยากเห็นภาพ คุณนอนหงาย แล้วเหยียดขา แบะขาออกให้นิ้วก้อยติดเตียง นิ้วหัวแม่เท้าชี้ฟ้า งอเข่าเล็กน้อย แล้วคุณหาหนุ่ม ๆ หรือสาว ๆ สักคนเอามือมาลูบเบา ๆ จากตาตุ่ม ไล้ช้า ๆ ผ่านหัวเข่าและต้นขา จุดหมายปลายทางคือขาหนีบตรงที่คุณจะสะดุ้งและหุบขา

เชื่อเหลือเกินว่าเจ้าหนุ่มหรือสาวเจ้าผู้นั้น ลากมือไปตามเส้นทางของหลอดเลือด GSV นั่นเอง เพียงแต่ยิ่งลูบสูงขึ้น ยิ่งสัมผัสหลอดเลือด GSV ยากขึ้นเพราะไขมันเยอะขึ้น หลอดเลือดซ่อนเร้นในไขมัน และอาจมีบางส่วนของกล้ามเนื้อขามาบดบัง ด้วยความที่มันหายากแบบนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ saphenous vein

เราย้อนอดีตกันสักนิด ในยุคสมัยที่เรารักษาสารพัดโรคด้วยการทำ blood letting คือกรีดผิวหนังและหลอดเลือดตื้น ๆ ให้เลือดไหลออกจากตัว เชื่อว่าเป็นการรักษาสมดุลของร่างกาย รักษาได้สารพัดโรค หนึ่งในจุดที่นิยมกรีดเพื่อทำ blood letting คือ หลอดเลือดดำใกล้ ๆ ตาตุ่มด้านใน หาง่าย กรีดสะดวก เลือดไหลมาก ใช้เวลาไม่นานก็ถึงกำหนดและปิดแผล

เมื่อมีความนิยมหลอดเลือดนี้ โดยเฉพาะกับคนที่ไขมันหนา หาหลอดเลือดมาทำ blood letting ได้ยาก หลอดเลือดตรงนี้จะยังปรากฏชัดเพราะตำแหน่งนี้ไม่ค่อยมีไขมัน หมอหลายคนที่ทำ blood letting ก็นิยมจุดนี้ แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเสมอไป

เมื่อคนเดียวกัน มาทำ blood letting หลายครั้ง (ก็คงมีคนที่รอดมาทำซ้ำครั้งที่สองสามจริง ๆ) การตัดหลอดเลือดครั้งต่อไป ต้องตัดให้ใกล้หัวใจคือสูงมากขึ้น เพราะบาดแผลจากการตัดครั้งก่อนจะทำให้หลอดเลือดส่วนที่อยู่ปลายจากจุดตัดฝ่อตัวไป หรือคนที่ต้องหาหลอดเลือดหลายครั้งก็ต้องขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้แหละปัญหา เพราะเมื่อผ่านมาประมาณครึ่งน่อง หลอดเลือดดำเส้นนี้มันเริ่มลดเลี้ยว มีกล้ามเนื้อมาบดบัง แอบซ่อนจนหายากมากขึ้น

หายาก ... มีบันทึกของ Avicenna ตำราแพทย์โบราณของตะวันออกกลางและมุสลิม เรียกหลอดเลือด GSV นี้ว่า el safin ที่แปลว่าซ่อน ปิดบัง ตามลักษณะของหลอดเลือดที่ค้นหายากมากขึ้น แต่บางตำราจะเขียนที่มาของ GSV ว่ามาจากภาษากรีกว่า safaina ที่แปลว่าเห็นชัดเจน อ้าว คำแปลของสองอันนี้ขัดแย้งกันที่ชัดเจน

ส่วนตัวผมขอเหมาสรุปว่าจริง ๆ แล้วทั้ง el safin และ safaina น่าจะเป็นที่มาของชื่อหลอดเลือด great saphenous ทั้งสองชื่อ เพียงแต่มาอธิบายหลอดเลือดในคนละตำแหน่งกันเท่านั้นเอง

แล้ว GSV นี้มีความสำคัญอย่างไร

ด้วยความที่มันยาวมากและสามารถหาได้ง่าย (ส่วนปลาย) เราสามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย โดยเฉพาะนำหลอดเลือดนี้มาใช้แทนหลอดเลือดอื่นที่เสียไป และโรคที่เราใช้บ่อยที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดที่ไม่เหมาะสมกับการทำบอลลูนและใส่ขดลวด ก็จะใช้หลอดเลือดนี้มาเปลี่ยนแทนหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่า coronary bypass graft เวลาตรวจร่างกายคนไข้แล้วพบแผลผ่าตัดตรงส่วนล่างท่อนขาเป็นแนวยาวตาม GSV จะต้องคิดว่าผู้ป่วยรายนี้อาจจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดมาแล้ว

มีการใช้หลอดเลือด GSV เพื่อให้สารน้ำในเวลาฉุกเฉินเช่นกัน และมีการเปิดหลอดเลือดนี้เพื่อใส่สายสวนให้สารน้ำได้ด้วย แต่เนื่องจากระยะทางกว่าจะไปถึงหัวใจเพื่อหวังผลกู้ชีพ มันไกลมาก เราจึงไม่ค่อยได้ใช้ในทางปฏิบัติครับ

จริง ๆ แล้วหลอดเลือดดำที่ขาในส่วนผิวด้านบน ยังมีทางลัด ทางพิเศษเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำส่วนลึก ในกรณีที่หลอดเลือด GSV เกิดตีบตันหรือถูกตัดไปทำอย่างอื่นเรียบร้อย เรียกว่า perforator vein ทำให้ขาไม่บวมมากนักหากเกิดความเสียหายต่อ GSV เป็นระบบสำรองของร่างกายอย่างหนึ่ง และด้วยความที่หลอดเลือดดำที่ขานี้มักจะตีบตันง่าย เกิดการขอด เกิดการอุดตันจากหลอดเลือดดำส่วนลึกย้อนขึ้นมา ระบบเครือข่ายสำรองของขา ที่จะไหลเป็นทางเลือกจาก GSV จะมีมากมายและมีความแปรปรวนในแต่ละคน

ไม่เหมือน GSV ที่ค่อนข้างเหมือนกันในทุกคนทุกเชื้อชาติ (เราจึงมาหาหลอดเลือดนี้เป็นหลัก และอดีตก็ใช้หลอดเลือดนี้ทำ blood letting ไงครับ)

ตัวอย่างเครือข่ายหลอดเลือดที่ขา บางส่วนก็ส่งเลือดไปที่ GSV และบางส่วนก็บายพาสไปยังหลอดเลือดระบบลึก เช่น small saphenous vein, anterior arch of GSV, posterior arch of GSV

และหากใครอ่านหนังสือกายวิภาคที่ชอบใช้ชื่อหลอดเลือดที่เป็นชื่อคน หรือชื่อละติน เราก็จะพบอีกชื่อที่สะดุดตาคือ posterior arch of GSV จะมีอีกชื่อว่า Leonardos vein เพราะปรากฏครั้งแรกในภาพเขียนของดาวินชี ไม่มีอะไรสลักสำคัญครับ แต่ยกย่องให้เป็นเกียรติกับคนแสดงหลอดเลือดนี้เป็นคนแรกคือ ลีโอนาร์โด ดา วินชี นั่นเอง

เริ่มด้วยของยาว ๆ ที่ขาหนีบ มาถึงการผ่าตัดหลอดเลือด จบด้วยลีโอนาโด ดา วินชี เฮ้อ...สมฉายา เพจการแพทย์สุดกาวจริง ๆ

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และผู้คนกำลังยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม