30 เมษายน 2564

การลดจำนวนบุหรี่กับโอกาสการเกิดโรคที่ลดลง

การเลิกบุหรี่ ช่วยลดอันตรายจากโรคต่าง ๆ และลดอัตราการเสียชีวิตอย่างชัดเจน แล้วการ ลด ปริมาณการสูบล่ะจะเป็นอย่างไร กับงานวิจัยขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้เรามีงานวิจัยที่ชัดเจนหลายงานวิจัยออกมาตรงกันว่า การสูบบุหรี่ปริมาณมากหรือปริมาณน้อย ก็เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคทั้งสิ้น สูบมากเสี่ยงมาก สูบน้อยก็เสี่ยงมากนะ เพียงแต่ไม่มากเท่าพวกสูบมาก คำแนะนำที่ดีคือ เลิกบุหรี่และอย่าเริ่มบุหรี่ แต่เนื่องจากการเลิกบุหรี่ไม่ง่าย จึงมีคำถามว่า โอเค เลิกสูบดีมากแน่นอน แล้วถ้าลดปริมาณการสูบลง โอกาสเสี่ยงต่าง ๆ จะลดลงไหม
อย่าเพิ่งสับสนนะครับ สูบมากเสี่ยงมาก มันเป็นคนละชุดความจริงกับ ลดสูบแล้วเสี่ยงลดลง ยกตัวอย่างเช่นไขมันไตรกลีเซอไรด์ในระดับสูงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ลงกลับแทบไม่ส่งทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจลดลง (มันลดแค่บางกลุ่มเท่านั้น)
งานวิจัยแบบรวบรวมการศึกษาแบบ Meta analysis โดยศูนย์ควบคุมยาสูบ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมการศึกษาแบบ case-control และ cohort ที่ไม่มีการศึกษาแบบทดลอง เพราะนี้เป็นงานวิจัยสาเหตุและความสัมพันธ์ของการเกิดโรค จะใช้รูปแบบการศึกษาแบบนี้ ไม่ใช่ controlled trials โดยได้งานวิจัยที่ดีมา 15 งานวิจัยนำมาวิเคราะห์
โดยศึกษาว่ากลุ่มที่สูบมาก (มากกว่า 20 มวนต่อวัน) สูบปานกลาง (10-19 มวนต่อวัน) และสูบน้อย (0-9 มวนต่อวัน) หากลดปริมาณการสูบลง อัตราการเกิดโรคต่าง ๆ จะลดลงไหม เป็นข้อมูลการศึกษาทั้งจากอเมริกา ยุโรป เอเชีย
ผลที่ได้
  1. สำหรับมะเร็งปอด พบว่าหากลดจากสูบหนักเป็นสูบปานกลาง โอกาสเกิดมะเร็งลดลง 34% และหากลดจากสูบหนักเป็นสูบน้อย โอกาสเสี่ยงมะเร็งปอดลดลง 40% **ข้อมูลโอกาสมะเร้งปอดที่ลดลงมีน้ำหนักและความแม่นยำมากที่สุด**
  2. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ พบว่าหากลดลงจากสูบหนักเป็นสูบน้อย โอกาสเกิดโรคจะลดลง 28%
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ (คิดเฉพาะหัวใจ) ถ้าลดลงจากสูบหนักเป็นสูบปานกลางหรือสูบน้อยมีผลลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจทั้งคู่ แต่ข้อมูลพบว่าลดจากสูบหนักเป็นสูบน้อยมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำกว่า
  4. สำหรับอัตราการเสียชีวิตนั้น แม้ข้อมูลยังกระจัดกระจาย แต่แนวโน้มว่า การลดปริมาณจากสูบหนักเป็นสูบน้อย ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 28%
จากผลสรุปข้อมูลก็คงบอกได้ว่า การลดปริมาณบุหรี่ต่อวัน ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคจากบุหรี่ลงได้ ข้อมูลที่ชัดเจนหนักแน่นที่สุดคือ มะเร็งปอด แต่ก่อนที่เราจะนำผลสรุปนี้ไปใช้ เราต้องมาทราบข้อจำกัดของการศึกษานี้ก่อน
  • การศึกษานี้ประเมินคุณภาพของงานวิจัยที่มาเข้าร่วมด้วย Newcastle-Ottawa Scale ที่เราอาจไม่คุ้นกันนัก แต่ก็เป็นการประเมินคุณภาพที่ง่ายดี และ 12 จาก 19 การศึกษาจัดเป็นคุณภาพดีตามระบบคะแนนนี้
  • การศึกษาเน้นที่จำนวนบุหรี่ต่อวัน แต่ไม่มีปัจจัยเรื่อง ระยะเวลาที่สูบมาก่อน หรือลดลงเป็นเวลานานเท่าไรจึงจะเห็นผลลดความเสี่ยง ซึ่งจริง ๆ แล้วระยะเวลาที่สูบเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ปริมาณที่สูบ
  • ความแปรปรวนของการศึกษายังมาก หลาย ๆ ข้อสรุปของการศึกษามาจากงานวิจัยที่มีความแปรปรวนของผลการวิจัยแต่ละอันสูงมาก ทำให้ผลสรุปบางข้อที่ไม่ใช่เรื่องมะเร็งปอด มีความแม่นยำน้อยลง
  • ไม่มีการวัดสารเคมีที่บ่งชี้การสูบบุหรี่ ส่วนมากใช้การสอบถาม บางคนลดปริมาณมวนลง แต่สูบลึกขึ้นเพื่อคงระดับนิโคตินในเลือด (ความลึกของการสูดส่งผลต่อระดับนิโคตินในร่างกาย)
  • ยังไม่สามารถแยกข้อที่ปนเปื้อนที่สำคัญคือ ลดสูบแล้วป่วยลดลง หรือเพราะเขาป่วย เขาจึงสูบลดลง
  • งานวิจัยแต่ละงานวิจัย มีข้อกำหนดเรื่อง ปริมาณการสูบที่ต่างกัน ลักษณะบุหรี่ในแต่ละงานวิจัยก็ต่างกัน ที่สำคัญคือเป็นการรายงานตัวเอง โดยไม่มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมายืนยัน อาจต้องระวัง recall bias และความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย
ใครอยากศึกษาฉบับเต็ม มีอ้างอิงมาให้ครับ
Chang JT, Anic GM, Rostron BL, Tanwar M, Chang CM. Cigarette Smoking Reduction and Health Risks: A Systematic Review and Meta-analysis. Nicotine Tob Res. 2021 Mar 19;23(4):635-642. doi: 10.1093/ntr/ntaa156. PMID: 32803250.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม