15 เมษายน 2564

มะเร็งหลอดอาหาร

 มะเร็งหลอดอาหาร น้ำหนักจะลดลงมากทีเดียว

ช่วงการระบาดของโควิดสามเดือนที่ผ่านมา ความสนใจจะมุ่งไปที่อาการของโควิดเป็นหลักจนบางครั้งก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้

ภาพเอ็กซเรย์ปอดของผู้ป่วยรายนี้พบความผิดปกติที่โครงสร้างตรงกลางระหว่างปอดสองข้าง ว่ามีบางสิ่งซ่อนอยู่หลังหลอดลมและเหนือหัวใจ เมื่อส่งผู้ป่วยไปตรวจโดยการกลืนแป้งทึบรังสี พบว่าแป้งเดินทางไม่สะดวกนักตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร และมีเงาสิ่งที่มาบดบัง ดูผิวไม่เรียบ ขรุขระ เหมือนเนื้องอก !!

ผู้ป่วยรายนี้ไปพบแพทย์แต่ละครั้งเนื่องจากอาการเจ็บคอ แสบคอ ด้วยกระบวนการคัดกรองจึงต้องคัดกรองโควิดและโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ก็จะพบว่าไม่มีโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเลย

แต่เมื่อถามประวัติต่อเนื่องไปได้ความว่า ผู้ป่วยเริ่มจากอาการกลืนติด จากอาหารแข็ง ๆ ต่อมาก็เป็นอาหารเหลว และตอนนี้กลืนน้ำก็ติดเป็นบางครั้ง อาการเป็นต่อเนื่องกันมา 3 เดือน พอกลืนติดจะขย้อนและตามมาด้วยอาการ...เจ็บคอหลังจากขย้อน

ผู้ป่วยน้ำหนักลด 10 กิโลกรัมในสามเดือน เนื่องจากกินอาหารได้น้อยมาก อ่อนเพลีย ผู้ป่วยดื่มเหล้าเป็นบางครั้ง เลิกสูบบุหรี่มา 10 ปี แต่สมัยก่อนสูบจัดมาก

โรคมะเร็งหลอดอาหารพบได้พอสมควร มักพบในวัยตั้งแต่ 50 ขึ้นไป อาการที่เด่นมากคือ กลืนติด คือ กลืนจากคอลงไปได้ยาก ถ้าฝืนอาจจะขย้อนออกมา และเมื่อกินมากจะอาเจียนออกมาในขณะยังกินมื้อนั้นอยู่ อาการกลืนติดจะเป็นลักษณะ progressive คือ ค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจากของแข็งไปสู่ของเหลว ตามก้อนที่โตขึ้นและเบียดช่องทางเดินอาหารให้เล็กลงตามลำดับ

และเนื่องจากกินอะไรแทบไม่ได้ น้ำหนักจะลดลงเร็วมาก มะเร็งบริเวณทางเดินอาหารส่วนต้น ช่องปากและลำคอจะมีน้ำหนักลดได้เร็วและลดเยอะ แต่จะยังไม่มีลักษณะของขาดสารอาหารเรื้อรัง

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า อ้วน โรคของหลอดอาหารเรื้อรังโดยเฉพาะ Erosive esophagitis

การตรวจยืนยันคือการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อเสมอ ปัจจุบันนอกจากตรวจแยกชนิดเซลล์แล้วยังต้องตรวจยีนอีกด้วย เพราะมีรายงานการการศึกษาการรักษาด้วยยามุ่งเป้าเช่น trastuzumab, bevacizumab ในกรณีสารพันธุกรรมบ่งชี้ประโยชน์จากยา

การรักษาหลักคือการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ร่วมกับการปรับภาวะโภชนาการ และอาจต้องดูแลทางเดินอาหารใหม่ ที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ไม่ว่าจากการตัดต่อลำไส้หรือจากการใส่ท่อให้อาหารในระยะยาว

ผู้ป่วยรายนี้มีอาการและความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหารค่อนข้างครบ แต่ว่าไปพบแพทย์แต่ละครั้งเนื่องจากอาการเจ็บคอหลังขย้อน ในยุคโควิดเฟื่องฟูจึงได้รับการตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนหลายรอบครับ

ฝากน้อง ๆ ว่าอาการไอ เจ็บคอที่มาตอนนี้ ยังคงต้องคิดถึงโรคอื่น ๆ กันตามปกตินะครับ

อาจเป็นรูปภาพของ การตรวจเอกซ์เรย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม