21 พฤษภาคม 2563

Noli Me Tangere อันล่วงละเมิดมิได้

Noli Me Tangere
อันล่วงละเมิดมิได้
ขอบอกเล่าเรื่องราวสักหน่อยนะครับ เผื่อใครจะสนใจหนังสือเชิงประวัติศาสตร์การเมืองแบบนี้ : Noli Me Tangere ชื่อภาษาอังกฤษคือ Touch Me Not หรือในชื่อ ภาษาไทย "อันล่วงละเมิดไม่ได้"
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย โฮเซ่ รีซัล บิดาและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาลของชาติฟิลิปปินส์ แปลไทยโดย ดร.จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล ในมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ และได้ชื่อภาษาไทยจาก อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่า "อันล่วงละเมิดมิได้" ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากเพื่อนเก่าท่านหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเห็นว่าผมอยากได้มากและหาฉบับพิมพ์ไทยแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
ทำไมหนังสือเรื่องนี้จึงสำคัญและอยากอ่าน เอาล่ะ จะเล่าให้ฟังนะครับ
สองปีก่อนผมได้มีโอกาสไปประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ถึงกระนั้นก็ถือโอกาสแอบศึกษาประวัติศาสตร์ชาติฟิลิปปินส์จากสื่อออนไลน์ ทำให้ทราบว่าที่เราเคยเรียนเกี่ยวกับชาติอาเซียนมานั้น มันช่างฉาบฉวยและเบาบางเหลือเกิด ประวัติศาสตร์แต่ละชาติแถบนี้ช่างเข้มข้น เลือดพล่าน และสนุกสนานกว่าที่เราเคยเรียนรู้จากตำรามากมายนัก
ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นผมได้เรียนรู้จากเพื่อนว่า เราไม่ควรนั่งแท็กซี่เพราะจะไม่มีการเปิดมิเตอร์และถูกโก่งราคาแน่นอน สิ่งที่เราควรใช้คือแกร๊บ แต่ผมอยากลองการเดินทางแบบชาวฟิลิปปินส์ จึงเลือกเดินทางโดยรถเมโทรหรือรถไฟในเมืองของเขา คุณทราบไหมฟิลิปปินส์มีรถไฟฟ้ากลางเมืองเป็นเจ้าแรกในอาเซียน และยังอยู่สภาพเดิมแบบนั้นมาหลายสิบปี แอร์ไม่เย็น รถขบวนสั้นและแน่นอนว่าแออัดมาก
หลังจากนั้นได้ลองนั่งรถประจำทางแบบชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า "รถจี๊ปนี่" คล้าย ๆ รถกระบะตอนเดียวที่ทำด้านหลังเป็นสองแถวครับ ขอบอกว่าถ้าไม่ทราบสายรถหรือไม่ใช่คนท้องถิ่นจะมีงง เพราะสถานที่ต่าง ๆ ที่เขียนไว้ข้างรถไม่ได้เรียงกันตามรถประจำทาง วิธีที่ดีที่สุดคือ ถามคนขับครับ
สำหรับคนทั่วไปแบบดอกหญ้าป่าปูน ผมว่าการเดินทางและการใช้ชีวิตเมืองไทยสะดวกกว่ามาก ถ้าไม่มีเพื่อนนำเที่ยว ขอบอกว่าไปยาก แม้ชาวฟิลิปปินส์ในบ้านเราจะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดี แต่นั่นคือคนที่ผ่านการฝึกมาอย่างหนัก เพื่ออัปเกรดตัวเองให้ได้ทำงานที่ดีหรือมีโอกาสได้ทำงานต่างประเทศ คนส่วนมากที่เมืองมะนิลายังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดีนัก ก็เหมือนเมืองไทยนั่นแหละครับ
เป้าหมายของผมคือสวนสาธารณะใจกลางเมือง สถานที่เชิงประวัติศาสตร์และศาสนาที่ถูกล้อมรอบไว้ในกำแพงยาวกว่า 4 กิโลเมตรที่เรียกชื่อแถบนี้ว่า Intramuros แปลเป็นไทยว่า ในกำแพงเมือง นั่นเอง สถานที่ต้องการไปดูคือ Casa Manila พิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงจากคฤหาสน์คนสเปนสมัยก่อน, โบสถ์ St. Agustin และ Fort Santiago ป้อมค่ายใหญ่ใจกลางเมืองเป็นที่ต่อสู้เมื่อคราวญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (อีตาลุงหมอบ้าสงครามโลกครั้งที่สองครับ) ร่องรอยการยิงปืนใหญ่ รอยรถถังที่เข้ามาทำลายกำแพงเมือง เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ภายในเราได้ไปเห็นสถานที่คุมขังโฮเซ่ รีซัล รัฐบุรุษแห่งชาติ ก่อนที่จะถูกนำตัวไปประหารที่หลักประหารในสถานที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2439 ในบริเวณนี้ได้จัดแสดงทุกอย่างเกี่ยวกับโฮเซ่ รีซัล การใช้ชีวิต บทกวีที่เขาเขียน รูปภาพที่เขาวาด สถานที่อยู่อาศัยเมื่อคราวถูกจองจำเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อุปกรณ์ในการตรวจคนไข้...โฮเซ่ รีซัล เป็นจักษุแพทย์นะครับ แต่ก็เป็นศิลปิน กวี สถาปนิก และที่สำคัญคือเป็นผู้นำทางความคิดของประชาชนฟิลิปปินส์ ในการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลสเปนที่ปกครองพวกเขามายาวนานกว่า 350 ปี
รีซัลเป็นลูกครึ่งที่มีฐานะดี ในยุคที่เจ้าอาณานิคมคือสเปน เริ่มเสื่อมถอยอำนาจ สเปนได้เลือกที่จะกำจัดคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง หรือเป็นผู้นำแนวคิดเสรีนิยม โดยการยัดข้อหาและประหาร พ่อแม่ของรีซัลก็ไม่พ้นภัย ส่วนตัวรีซัลเอง ได้ไปเรียนต่อที่สเปนและภาคพื้นยุโรป ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้าง และได้รู้ว่าตอนนั้นสเปนใกล้จะหมดอำนาจในแถบยุโรปเต็มทน ด้วยแนวคิดและความกล้าหาญทำให้เขาเขียนนิยายเรื่อง Noli Me Tangere ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเขาอายุแค่ 20 กว่าปี ที่กรุงเบอร์ลินในปี 2430 ต่อมาได้แปลเป็นอีกหลายภาษา เมื่อกลับมาฟิลิปปินส์ เขาได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ และขอสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ จนเขาเป็นไอดอลของคนหนุ่มสาว แต่เป็นศัตรูตัวร้ายของสเปน
สุดท้ายชีวิตระหกระเหินตามแนวทางนักต่อสู้เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยม ต้องไปยุโรปและแต่งนิยายเล่มที่สองออกมา ต้องถูกจองจำในเกาะ สุดท้ายก็กลับมาเป็นผู้นำทางความคิดของฟิลิปปินส์ ถูกสเปนคุมขังและประหารชีวิต ด้วยเหตุผล "ปากกาที่มีอิทธิพลมากกว่าไกปืน" คืองานเขียนสองเล่มที่กล่าวถึงนั่นเองครับ
ตอนนั้นคิดว่าต้องหามาอ่านให้ได้ว่าทำไมเขาจึงสามารถสร้างงานเขียนให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ในยุคนั้นตื่นตัวทางการเมือง ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำและชนชั้นในสังคม ไขว่คว้าหาเสรีภาพและสุดท้ายลุกฮือจนได้เอกราชจากสเปน แต่หลังจากที่รีซัลเสียชีวิตไปแล้วนะ (แล้วก็โดนอเมริกาครอบครองต่อไปอีก 50 ปี) ที่นี่ เด็กนักเรียนทุกคน "ต้อง" อ่านนิยายสองเล่มนี้
Noli Me Tangere และ El Filibusterismo
วันนี้ได้มาครอบครองหนึ่งเล่ม จะได้เข้าใจประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ภาษาและอัจฉริยะของโฮเซ่ รีซัลครับ ว่ากันว่า อยากทราบประวัติศาสตร์ยุคใด ให้ไปอ่านงานเขียนในยุคนั้น อย่าไปเชื่อหนังสือประวัติศาสตร์เสียทั้งหมด ท่าจะจริงแฮะ
ภาพเป็นนิยายภาษาอังกฤษจากอินเตอร์เน็ตนะครับ ของจริงไม่มีปก แต่อ่านได้ มีชื่อเจ้าของอยู่จึงไม่สามารถถ่ายภาพลงมาได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม