28 พฤษภาคม 2563

หัวใจเต้นผิดจังหวะ กับการใช้ยา hydroxychloroquine รักษาโควิด

เล่าเรื่องความคืบหน้าการรักษาโควิด

  • เตือนเรื่องการใช้ยา hydroxychloroquine ในการรักษาโควิด ... มีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกออกมา และสำนักข่าวต่าง ๆ ก็ขยายความออกไป ไม่ให้ใช้บ้างล่ะ ทำให้หายช้าบ้างละ และประเด็นร้อนคือคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศทางทวิตเตอร์ ว่ายานี้ดี กินแล้วปลอดภัย  
    • เดิมทีนั้นการรักษาด้วย HCQ มาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยา มีการใช้บ้าง มีการรายงานบ้าง แต่ไม่ใช่การศึกษาที่ดีและทิ้งท้ายไว้เสมอว่าระวังหัวใจเต้นผิดจังหวะจากไฟฟ้าหัวใจ ที่เรียกว่า QT prolongation 
    • มีการศึกษาตีพิมพ์ใน JAMA Cardiology เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรื่องการเกิด QT prolongation ในผู้ป่วยที่เป็น COVID 19 และได้รับการรักษาด้วย HCQ ว่าจะมีไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมากน้อยเพียงใด โดยคิดแยกว่าได้ยา azithromycin ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม คือเจ้า azithromycin ก็เพิ่มโอกาสหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • เป็นการศึกษาดูข้อมูลย้อนหลังนะครับ และกลุ่มผู้ป่วยจะเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยงกับโรคหัวใจ เพราะทุกคนรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้าเสี่ยงก็ไม่ให้ HCQ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีแต่คนที่ไม่เสี่ยงโรคหัวใจ(median QT = 455 ms) และความรุนแรงโควิดไม่มาก ได้กลุ่มตัวอย่างมา 90 ราย
    • พบว่า 21 ราย มี QT prolongation หรือมี QT ที่เปลี่ยนไปเกิน 60 ms อันใดอันหนึ่ง ถ้าใช้ยาทั้งคู่ QT ก็เปลี่ยนแปลงมากกว่า ถ้าใช้ยาตัวเดียว QT เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า ... สรุปว่ามีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจริง 13.3% อย่างที่คาดไว้ ขนาดนำมาแต่คนที่แข็งแรงและให้ยาไม่นาน
    • แต่มีคนที่เกิดอันตรายจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ (torsade de point) เพียงหนึ่งรายและสามารถรักษาหายได้ดีด้วยการใช้ยาแก้ไข ไม่ได้ทำให้โรคโควิดแย่ลงแต่อย่างใด (ก็ไม่ได้รุนแรงตั้งแต่แรก) 
    • ส่วนผลข้างเคียงจากยาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดยา ก็ไม่ใช่หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้านะครับ ผลข้างเคียงที่ทำให้ต้องหยุดยาคือ คลื่นไส้อาเจียน ต่างหาก 
    • ประเด็นเสริมคือ คนที่ได้รับยาขับปัสสาวะร่วมกับ HCQ จะมีโอกาสเกิดคลื่นไฟ้าหัวใจเปลี่ยนไป มากกว่าคนที่ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะ (เฉพาะการศึกษานี้นะครับ ไม่สามารถนำไปใช้ในกรณีทั่วไปได้) 
    • หมายความว่า การใช้ HCQ ในการรักษาโควิด (ห้ามไปแปลเหมากับการรักษาโรคอื่น) จะเพิ่มโอกาสเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติจริง แม้แต่คนที่แข็งแรงดีก็ตาม แต่เป็นความผิดปกติที่ไม่รุนแรง ส่วนที่รุนแรงเกิดเพียงหนึ่งรายและไม่ตายนะครับ 
    • และไม่ได้กล่าวถึงผลต่อการหายจากโรคโควิด ว่ายาทำให้โรคหายช้าหายเร็วอย่างไร แต่ต้องระวังอาการคลื่นไส้อาเจียน เพราะทำให้ผู้ป่วยยุติการให้ยาได้
  • ส่วนตัวคิดว่า จะไปแปลว่ายามันไม่ดี ผลข้างเคียงเยอะ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอันตราย จะเป็นการแปลที่เกินข้อเท็จจริงจากการศึกษา คงบอกเพียงว่า ผลข้างเคียงต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มันมีจริงนะ ถ้าจะใช้ขอจงระวังให้ดี เปรียบเทียบผลดีผลเสียให้ดี ยิ่งประสิทธิภาพการรักษาโควิดที่ไม่ชัดเจน มันจะทำให้ผลข้างเคียงมันเด่นขึ้นอย่างมาก องค์การอนามัยโลกจึงออกมาเตือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม