ตามปรกติเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายจะเป็นระเบียบเรียบร้อยครับ ไหลราบเรียบแบบที่เรียกว่า laminar flow แต่ถ้าหากเมื่อใดลมปราณแตกซ่าน ไหลหมุนวน ไหลกระโชกโฮกฮาก แรงดันที่กระแทกผนังหลอดเลือดจะผลิตเสียงดัง ฟ่อ ฟ่อ ... ไม่ใช่แล้ว นั่นเสียงงูบนหัว จะเป็นเสียงฟู่ในจังหวะการบีบตัวของหัวใจ
หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ถือเป็นหลอดเลือดสำคัญมากเพราะส่งเลือดไปสู่สมอง การตีบตันของหลอดเลือดบริเวณนี้ทำให้เกิดอัมพาตได้ หนึ่งในการตรวจร่างกายเพื่อประเมินการตีบแคบของหลอดเลือดแดงที่คอ คือ การฟังเสียงฟู่ ที่เรียกว่า carotid bruit
คุณหมอจะให้ท่านนอนลง ผ่อนคลาย ตะแคงคอข้างที่ต้องการฟังโดยหันหน้าไปด้านตรงข้ามเล็กน้อย ให้พื้นที่ตรงคอเปิดกว้าง หลังจากนั้นคุณหมอจะใช้สเต็ทโตสโคปด้านแบน (diaphragm) เพราะด้านนี้ออกแบบมาฟังเสียงสูง เสียง bruit จะฟังได้ดีหากใช้ไดอะแฟรมครับ โดยตำแหน่งที่วางไดอะแฟรมคือ ใต้ต่อมุมกราม (angle of mandible) ตำแหน่งนี้ประมาณตำแหน่งที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ common carotid artery แยกออกเป็น internal และ enternal carotid artery เจ้าหลอดเลือด internal จะเข้าสมองครับ
แล้วคุณหมอจะบอกให้ท่านหายใจช้า ๆ ลึก ๆ หลังจากนั้นจะให้หายใจเข้าและกลั้นไว้ คุณหมอเขากำลังใช้เทคโนโลยี noise cancelling ครับ ตัดเสียงรบกวนออกไป เสียงรบกวนที่ดังที่สุดคือเสียงหายใจ เพราะท่อลมตรงนี้ใหญ่มาก เสียงจะฟืดฟาด ฟืดฟาด (ทำไมผมหายใจดังฟืดฟาดนะ) รบกวนตลอด
จังหวะที่กลั้นหายใจ คุณหมอจะกดไดอะแฟรมลงเล็กน้อย ให้แนบชิดผิว แต่จะไม่แรงเกินไปจนเกิดเสียงฟู่เทียม จากไปกดหลอดเลือดให้แคบลง ฟังสักสองถึงสามจังหวะการเต้นหัวใจ เสียงจะได้ยินตอนหัวใจบีบตัว (systole) แล้วจะให้ท่านหายใจได้ตามปกติ
เป็นการตรวจร่างกายที่สำคัญเวลาสงสัยอัมพาต หรือก่อนจะทำการกดหลอดเลือดเพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากมีเสียงฟู่ สงสัยหลอดเลือดตีบ จะต้องส่งยืนยันโดยการวัดความเร็วด้วยดอปเปลอร์อัลตร้าซาวนด์เสมอ (ถ้าเป็นอัมพาตแล้วต้องส่งทุกราย เพราะบางรายตีบแต่ไม่ได้ยินก็มี) หากตีบมากจะต้องผ่าตัดเลาะไขมันที่เกาะออก เพื่อลดโอกาสการเกิดอัมพาตซ้ำ
และหากเลื่อนไดอะแฟรมลงมาต่ำสักหน่อย ประมาณกึ่งกลางลำคอถึงไหปลาร้า ตำแหน่งนี้เราใช้ฟังเสียงฟู่ของหัวใจ (murmur) ที่ดังต่อเนื่องมาถึงคอ (radiation to neck) ที่มักพบในโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น