08 พฤษภาคม 2563

ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี

ครั้งก่อนเราได้รู้จักระยะต่าง ๆ ของโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมาแล้ว และได้รู้ว่าเมื่อไรเราจะให้ยารักษา วันนี้เราจะมารู้จักยาที่ใช้รักษากันบ้าง

ทบทวนเรื่องไวรัสตับอักเสบบี
1. https://medicine4layman.blogspot.com/2020/05/blog-post.html
2. https://medicine4layman.blogspot.com/2016/01/blog-post_5.html

☆☆ ยา inferferon alpha : เป็นสารชีวภาพที่ไปปรับสภาพภูมิคุ้มกันของเซลล์เม็ดขาวให้รับมือกับไวรัสได้ดี ส่วนผลการกำจัดไวรัสตรง ๆ นั้นไม่มากเท่าไร ดังนั้นข้อดีที่สุดของอินเตอเฟอรอนคือ ไม่ทำให้เชื้อไวรัสเกิดการดื้อยา เกิดการเปลี่ยนพันธุกรรม การรักษาจึงง่าย  ยาให้ผลดีโดยเฉพาะในกลุ่มที่ตรวจพบ HBeAg จะมีโอกาสเกิด HBe seroconversion รวมไปถึง HBsAg loss ได้มากกว่ายากิน

แต่ข้อด้อยก็มีนะครับ 

▪ผลข้างเคียงเยอะมาก มีไข้ กดการทำงานไขกระดูก อาจกระตุ้นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่ซ่อนเร้นให้กำเริบได้ พบฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ และผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดคือซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน เพลียจัด เป็นผลข้างเคียงที่ทำให้ยุติการใช้ยามากที่สุด

▪ต้องฉีดทุกสัปดาห์ อินเตอร์เฟอรอนรุ่นก่อนหน้านี้ฉีดทุกวัน แต่รุ่นโมเดลเชนจ์นี้เรียกว่า peglycated ทำให้สามารถฉีดสัปดาห์ละครั้งได้ บรรจุภัณฑ์ออกแบบมาให้ฉีดง่าย แต่ก็ต้องฉีดอยู่ดี (เจ็บนิดนึง)

▪ราคาแพงมาก 

แล้วใครที่เหมาะกับยาตัวนี้ ... เรามักจะใช้ในคนที่ยังไม่มีตับแข็ง อายุไม่มาก ค่า ALT สูงอย่างน้อยสามถึงห้าเท่า และปริมาณไวรัสไม่มากนัก รวมทั้งไม่มีข้อห้ามการใช้ยาฉีดนี้

เราจะใช้ยาฉีดไป 48 สัปดาห์ครับ โดยประเมินการตอบสนองที่หกเดือนก่อน ถ้าการตอบสนองดีจะให้ยาจนครบ ถ้าไม่ตอบสนองจะหยุดยาและพิจารณายากินต่อไปครับ

☆☆ หมวดยากิน : ที่นิยมใช้ปัจจุบันและบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ tenofovir และ entecavir ยาตัวอื่นเราใช้น้อยลงมากเพราะมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์และดื้อยาสูง ส่วนยาสองตัวนี้มีโอกาสกลายพันธุ์และดื้อยาน้อยมาก และ ไม่ดื้อยาข้ามกลุ่มอีกด้วย  หมายความว่า หากใช้ยาตัวใดแล้วไม่สำเร็จ ยังสามารถใช้ยาอีกตัวเพื่อมาทดแทนได้ (ในบางกรณีข้ามไปใช้อินเตอร์เฟอรอนก็ได้)

▪ยา tenofovir (มีทั้ง TDF,TAF) กินวันละครั้ง และต้องระวังเรื่องการปรับยาในภาวะไตเสื่อม รวมทั้งตัวยาเองทำให้การทำงานของไตแย่ลงได้ พบภาวะกระดูกบางได้
อ่านเรื่อง TAF และ TDF ที่นี่
https://medicine4layman.blogspot.com/search?q=tenofovir

▪ยา entecavir รับประทานวันละครั้งเช่นกัน ต้องระมัดระวังเรื่องเลือดเป็นกรด (พบน้อยมาก) และการทำงานของตับที่อาจจะแย่ลง (ต้องตรวจสม่ำเสมอเพราะยาใช้รักษาตับอักเสบ!)

ผลการรักษาเรียกว่าสูสีกับอินเตอร์เฟอรอน ด้อยกว่าไม่ถึงช่วงตัว ส่วนมากจะเลือกให้ในคนที่มีข้อห้ามการใช้อินเตอร์เฟอรอน ไม่เหมาะกับยาอินเตอร์เฟอรอน เช่น ปริมาณไวรัสสูงมาก หรือ ตับแข็งแล้ว หรือ ไม่สามารถจ่ายค่าอินเตอเฟอรอนได้  ส่วนผลข้างเคียงโดยรวมถือว่าน้อยมาก บวกลบคูณหารแล้วการรักษาโดยกินยาไปตลอดยังคุ้มค่า

ส่วนมากเราจะใช้ยาระยะยาว เพราะเป้าสำคัญของยากินมักจะเป็นการควบคุมปริมาณดีเอ็นเอของไวรัสไม่ให้สูงจนไปทำร้ายร่างกายได้ ตับแข็งไม่เพิ่มขึ้น ตับอักเสบลดลง ก็กินไปตลอดนั่นแหละครับ เพราะโอกาสเกิด HBsAg loss พบน้อยมากครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม