23 พฤษภาคม 2563

hypervitaminosis A กินตับหมีขั้วโลก

วันนี้เราจะไปเที่ยวขั้วโลกกัน และมีเมนูพิเศษด้วยนะ ลองติดตามดูว่าคืออะไร
เราย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่สิบหก ยุคสมัยของการเดินทางออกสำรวจโลก กองเรือของสเปน โปรตุเกส และฮอลันดา (ปัจจุบันเขาชื่อเนเธอร์แลนด์อย่างดียวแล้วนะครับ) หลายดินแดนของโลกได้รับการค้นพบและจับจองโดยชาตินักเดินเรือเหล่านี้
ทางเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป ผ่านเลยคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย คือดินแดนน้ำแข็งหนาวเหน็บที่แม้แต่ไวกิ้งส์ยังไม่ย่างกรายขึ้นไป จนเมื่อเทคโนโลยีการเดินเรือก้าวหน้า การเดินทางผ่านผืนน้ำที่มีน้ำแข็งปกคลุมเริ่มไม่เกินขีดความสามารถ กองเรือชาวดัตช์เริ่มรุกคืบไปสำรวจดินแดนต่าง ๆ ทางตอนบน ที่ซึ่งเขาไม่มีทางรู้ว่าจะพบเจออะไร หลายครั้งการเดินทางต้องมีอุปสรรค ไม่สามารถไปจนสุดที่หมายต้องย้อนกลับมาวางแผน หลายครั้งหายสาปสูญยกลำ คนที่กลับมาแต่ละครั้งก็ไม่เท่ากับขาไป เพราะประสบโรคภัยร้ายแรง หนึ่งในโรคภัยที่เราเคยบอกเล่าไปแล้วคือ สเคอร์วี่ หรือโรคลักปิดลักเปิด นั่นเอง
ปี คศ. 1594 กองเรือของผู้บัญชาการชาวดัตช์ Willem Barentsz' ได้ออกสำรวจดินแดนนี้เป็นครั้งที่สอง คราวนี้เขาเตรียมตัวพร้อมมากกว่าเดิม มีเสบียง มีกำลังคน วางแผนเดินทางอย่างดี แต่ก็ยังโชคร้ายที่ฤดูหนาวปีนั้นยาวนานกว่าที่คาด เรือจึงติดน้ำแข็งอยู่ที่บริเวณทางตะวันออกสุดของยุโรป จรดตะวันตกสุดของโซเวียตรัสเซีย และกินลึกไปทางตอนเหนือเกือบถึงเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล ... แว่บ เส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (arctic circle) คือเส้นสมมติ ตรงกับละติจูดที่ 66 องศาเหนือ 33 ลิปดา เพื่อให้แบ่งเขตอากาศเป็นเขตหนาวของขั้วโลกเหนือ แว่บกลับ ... ดินแดนตรงนั้นมีชื่อเรียกว่า Novaya Zemlya
เรือของท่านผู้บัญชาการติดเกาะน้ำแข็งอยู่นาน ขยับได้ทีละไม่มาก ด้วยเวลาที่ยาวนานนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ถึงสองเหตุการณ์
Gerrit de Veer นายช่างผู้เชี่ยวชาญการสารพัดช่าง ได้เดินทางไปกับกองเรือนี้ด้วย เขาชอบสังเกต บันทึก เป็นนายรอบรู้ประจำเรือ เขาและผู้บัญชาการได้พบปรากฏการณ์หักเหของแสงผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาวเหน็บสุดขั้วของบรรยากาศโลก มองดวงอาทิตย์จากลูกไฟกลม กลายเป็นลูกไฟสามเหลี่ยมทุมยอดต่อกันเป็นรูปนาฬิกาทราย หลายคนในเรือเห็นเป็นดวงอาทิตย์แบน ภาพวาดและบันทึกทางประวัติศาสตร์สำคัญนี้ได้รับการจารึกชื่อว่า Novaya Zemlya effect
แต่ปรากฏการณ์ยังไม่หมดแค่นั้น ...
หลังจากเสบียงเริ่มร่อยหรอ ลูกเรือเริ่มล่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นปลา แมวน้ำ สุนัขป่า สัตว์แถบเขตหนาว ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติทั่วไป แต่ความไม่ปรกติเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง ลูกเรือของท่านผู้บัญชาการ ได้ล่าเหยื่อมาทำเมนูพิเศษ เมนูนั่นคือ หมีขั้วโลก (polar bear)
หลายท่านน่าจะอมยิ้มแล้ว ด้วยรู้ว่าเรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อคือเรื่องใด ทำเป็นไม่รู้และรอว้าวตอนเฉลยด้วยนะครับ
เมนูพิเศษถูกตระเตรียมขึ้น โดยใช้ทุกส่วนของหมี ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ ตับ ไต หัวใจ การล่าหมีหนึ่งตัวจะอิ่มไปหลายวันเพราะเนื้อมันเยอะ ลูกเรือเลือกกินส่วนที่ชอบ เมนูที่โปรดปราน ทั้งสุกทั้งดิบ ทั้งสตูว์ สเต็ก สองสามวันนั้นคงอิ่มสำราญดี แต่ทว่า...
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ลูกเรือหลายคนเริ่มมีอาการซึมลง เบลอ ปลุกไม่ค่อยตื่น บางคนเพ้อและชัก หลังจากนั้นทุกคนที่เริ่มมีอาการ ก็เริ่มมีผิวหนังลอก เริ่มจากริมฝีปาก ไล่ลามมาที่ใบหน้าและตลอดทั่วตัว มีความเจ็บปวดทรมาน หลังจากนั้นเริ่มไข้สูง ถ้าสามารถย้อนเวลาไปเจาะเลือดตรวจได้จะพบว่ามีตับอักเสบรุนแรง บางรายมีไตวาย ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ทุกคนก็เสียชีวิต
de Veer คนขยันได้ทำการสืบค้นว่าคนที่เสียชีวิตนั้นเกิดจากอะไร สิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกันคือ กินตับหมีขั้วโลกที่ไม่สุก ส่วนเมนูที่เกิดจากอวัยวะอื่น ไม่เกิดอาการ ไม่ว่าจะเป็นอุ้งตีนหมี เซ่งจี้หมี หัวใจหมี หรือ กระเปี๊ยวหมี เขาจึงได้เขียนรายงานบันทึกว่า อาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากการกินตับหมีขั้วโลก และทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
นั่นคือบันทึกครั้งแรกของ hypervitaminosis A ภาวะพิษที่เกิดจากการได้รับวิตามินเอเกินขนาด ที่นักเรียนแพทย์ทุกคนในประเทศไทยท่องกันว่า เกิดจากกินตับหมีขั้วโลก นี่ก็คือรายงานนั้น มีการกล่าวถึงบันทึกของ Gerrit de Veer ใน Biochemistry Journal ตีพิมพ์เมื่อ กรกฎาคม 1943 โดย K.Rodahl และ T.Moore
โดยโรดาห์ลและมัวร์ ได้อธิบายว่าตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดจากอะไร และหลังจากนั้นมีรายงานอาการเดียวกันแบบนี้ในหมู่นักสำรวจขั้วโลกชาวอังกฤษเช่นกัน บางคนมีอาการแบบเดียวกัน บางคนมีอาการเฉพาะที่ใบหน้า และมีรายงานการเกิดโรคแบบนี้ในชาว Iniut ชนพื้นเมืองแถบนั้น ส่วนมากจะมีสาเหตุจากกินตับหมีขั้วโลกเช่นกัน มีบ้างที่มาจากสุนัขป่าอาร์กติก จนเมื่อปี 1940 นักสำรวจชาวอเมริกันได้ไปสำรวจเกาะกรีนแลนด์และไปล่าหมีขั้วโลกพร้อมกับนำตัวอย่างของตับหมีมาให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ สิ่งที่เราพบคือ....
จากตัวอย่างตับหมีสาวอายุสองปี พบมีวิตามินเอในตับหมีสูงมากถึง 18,000 iu (international unit) ต่อน้ำหนักตับหนึ่งกรัม !!!
อีกตัวอย่างมาจากแมวน้ำหนุ่มอายุสามปี มีวิตามินเอไม่แพ้กันถึง 13,000 iu ต่อตับหนึ่งกรัม โดยขนาดปรกติของวิตามินเอที่ต้องการคือ 3,000 -5,000 iu ต่อวันเท่านั้น โดยขนาดที่คาดว่าน่าจะเริ่มเกิดพิษคือเกิน 100,000 iu ต่อวัน นั่นคือ ตับหมีแค่ ห้ากรัมเท่านั้น แต่คาดว่าลูกเรือไม่น่าจะกินแค่ห้ากรัม อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งกิโลกรัม 18,000 x 500 คือ 9 ล้าน iu ครับ !!! เป็นคำตอบเรื่องตับหมีขั้วโลกทำให้เกิดพิษ และพิษนั้นคือ วิตามินเอที่เกินขนาดนั่นเอง
ปัจจุบันเราจะพบพิษจากยาวิตามินเอ และสารเสริมวิตามินเอ เกือบทั้งหมด การกินตับหมีดิบหรือตับแมวน้ำดิบไม่พบอีกแล้ว แม้แต่ชนเผ่า Inuit ก็ทราบเรื่องนี้ดี ส่วนวิตามินเอที่มาจากเบต้าแคโรทีน เช่นจากพืช จากฟักทอง จากมะเขือเทศ จะไม่พบการเกิดพิษแบบนี้ครับ
นี่คือเรื่องราวของ Novaya Zemlya ดินแดนที่มีเรื่องราวสำคัญถึงสองเหตุการณ์ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบหก และมาโด่งดังอีกครั้งในช่วงปี 1950 เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่ทดลองระเบิดนิวเคลียร์และระเบิดไฮโดรเจนของสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น
มาถึงปัจจุบันดินแดนนี้ สงบเงียบ ไร้ซึ่งคนมาเยี่ยมเยือน ทั้งคนและหมี
ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมเดินทางย้อนอดีตและกินเมนูพิเศษ "ตับหมีขั้วโลก" ที่มาที่นักเรียนแพทย์ท่องกันเสมอว่า พิษจากวิตามินเอเกิน เกิดจากการกินตับหมีขั้วโลก
สายการบินลุงหมอแอร์ โดยกัปตันลุงหมอและแอร์สาวสวยน้องเมย ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ โอกาสหน้าฟ้าใหม่ จะพาไปเที่ยวอีกนะครับ บ๊าบบาย จุ๊บจุ๊บ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม