10 มิถุนายน 2562

พยาธิใบไม้ปลา พระบิดา

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนแล้วมีความสุขมาก เป็นบทความที่สรุปมาจากวารสารทางการแพทย์ JAMA ตีพิมพ์เมื่อ 19 พฤษภาคม 1928 ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นรายงานผู้ป่วยชาวอเมริกันสองรายที่พบการติดเชื้อพยาธิตืดปลา Diphyllobothrium latum ผู้รายงานสองท่านคือ Edward G. McGavern และ Mahidol Songkla ใช่ครับนี่คือวารสารที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย ได้ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อ 91 ปีก่อนครับ ส่วนที่เป็นบทขยายที่เป็นความคิดเห็นของตัวเอง ผมจะใส่ไว้ในวงเล็บนะครับ
โรคพยาธิตืดปลาได้มีการรายงานบ้างประปรายในสหรัฐอเมริกา สำหรับในมลรัฐแมสสาซูเสตต์ถือว่ารายงานสองรายนี้เป็นการรายงานครั้งแรก ที่ผ่านมาการรายงานผู้ป่วยโรคพยาธิตืดปลามักจะเป็นผู้อพยพย้ายถิ่น แต่ครั้งนี้คือการรายงานผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในสหรัฐอเมริกา (ในวารสารได้แนบรายงานอีก 11 รายที่มีภูมิลำเนาในอเมริกา ที่รัฐ minnesota, michigan, illinois, indiana)
ผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 3ปี 2เดือน ประวัติถ่ายอุจจาระมีแถบสีขาวออกมาต่อเนื่อง 5 เดือน เด็กเริ่มมีอาการเบลอ ๆ เบื่ออาหารและไม่ค่อยตอบสนอง ไปตรวจหลายที่จนสุดท้ายพบพยาธิตืดปลาในอุจจาระ จึงได้รับการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเด็กและส่งสิ่งส่งตรวจมาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ที่ก่อนหน้านี้ตรวจไม่พบไข่พยาธิเลยเพราะว่าที่โรงพยาบาลที่ผ่านมาใช้วิธีตรวจแบบ salt flotation method เป็นวิธีที่เหมาะกับไข่ที่ไม่มีฝาปิด หรือ non-operculuted egg (วิธีนี้คือใส่อุจจาระลงในหลอดทดลองแล้วเทน้ำเกลืออิ่มตัวลงไป ไข่จะลอยขึ้นมาด้านบนทำให้เก็บไปตรวจได้ง่าย) ซึ่งไข่พยาธิตืดปลามีฝาปิด จึงตรวจไม่พบด้วยวิธีนี้
ประวัติสำคัญคือเด็กชอบกินปลา ครอบครัวนี้ก็ประกอบอาหารด้วยปลา แม่เด็กรายงานว่าเด็กชอบขโมยกินปลาซาร์ดีนดิบและปลาแซลมอนดิบ ขณะที่แม่กำลังเตรียมจะปรุงอาหาร
ผู้ป่วยรายที่สองเป็นเด็กหญิงอายุ 4ปี 2เดือน มีประวัติถ่ายอุจจาระและมีตัวพยาธิแบนยาว 20 ฟุตออกมาด้วย นำมาตรวจที่โรงพยาบาลสองครั้งพบเหมือนกัน ทางโรงพยาบาลได้ส่งไปยืนยันชนิดพยาธิที่ภาควิชาพยาธิวิทยาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (การรายงานทั้งสองครั้ง รวมเด็กชายรายแรกด้วย ยืนยันที่นี่โดย DR. D.L. Augustine) แต่ครั้งนี้พบไข่พยาธิมากมายในอุจจาระ
ประวัติที่สำคัญคือ ครอบครัวนี้ชอบรับประทานปลา ใช้ปลาปรุงอาหารอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง ซื้อปลาจากตลาดปลาใกล้บ้านทั้งลูกชิ้นปลาและเนื้อปลา มีเมนูปลาแฮริ่งดิบใส่น้ำส้มสายชูด้วย เด็กคนนี้มีประวัติแอบหยิบอาหารที่ยังไม่ปรุงมากินในขณะแม่ทำอาหารเช่นกัน
ผลการตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งคู่พบว่าปรกติดี ผลเลือดและปัสสาวะปรกติ เม็ดเลือดอีโอสิโนฟิลไม่ขึ้นสูง (เรามักจะเชื่อว่าหากมีการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้จะสูงแต่จริง ๆ อาจจะขึ้นสูงได้ในพยาธิที่ฝังตัวในเนื้อเยื่อ ไม่ใช่อยู่ในโพรงลำไส้) ผู้ป่วยทั้งสองรายได้รับการรักษาด้วย oil of chenopodium สารสกัดธรรมชาติจากพืชที่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิในลำไส้ (ปัจจุบันไม่มีการใช้สารนี้แล้ว การรักษาตืดปลาในปัจจุบันใช้ยา praziquantel) ตามด้วยยาระบายสองชนิดคือ caster oil หรือน้ำมันละหุ่งและแมกนีเซียมซัลเฟต ปรับขนาดใช้ในเด็ก ผู้ป่วยทั้งสองหายดี
ประวัติสำคัญคือการกินปลาที่ไม่สุก ถึงแม้การประกอบอาหารในครัวเรือนจะเป็นการปรุงสุกและไม่กินอาหารนอกบ้านก็ตาม การหยิบอาหารที่อาจจะอยู่ในขั้นตอนการปรุงยังพบได้โดยเฉพาะกับเด็ก (ปัจจุบันวิธีการป้องกันการติดเชื้อพยาธินี้คือการกินปลาที่ปรุงสุกนั่นเอง)
การศึกษานี้ยังวิเคราะห์ถึงที่มาของปลา ทั้งคู่ซื้อปลาจากตลาดปลาใกล้บ้าน จากการติดตามพบว่าพ่อค้ารับมาจากผู้ค้าปลาจากแม่น้ำโอไฮโอ และจากทะเลสาบทั้งห้า (Great Lakes ทะเลสาบสำคัญห้าทะเลสาบที่พรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาและแคนาดา) ทั้งหมดเป็นปลาน้ำจืดและรวมถึงปลาแซลมอนที่มีช่วงชีวิตการวางไข่ในน้ำจืดอีกด้วย ไม่มีรายงานจากการกินปลาทะเลเลย
ปลาที่พบรายงานคือ white fish, lake herring, carp sucker, sucker, common pike, yellow perch ซึ่งเป็นปลาที่ได้จากการทำประมงน้ำจืดจากทะเลสาบในอเมริกา และพ่อค้าปลาทั่วอเมริกาก็ซื้อปลาจากแหล่งประมงนี้ จึงคาดว่ายังมีผู้ป่วยอีกมากแต่ไม่ได้รายงานอย่างเป็นระบบ
นี่คือเนื้อความทั้งหมดที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระยศในขณะนั้นคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงนิพนธ์สมัยที่เป็นนิสิตแพทย์ที่ Harvard Medical School
รำลึกถึง พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย ผู้เสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อวางรากฐานการแพทย์ของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม