08 มิถุนายน 2562

sunscreen สารเคมีตกค้าง

อีกหนึ่งตัวอย่างของข่าวกับข้อเท็จจริง : sunscreen
สองสามสัปดาห์มานี้ท่านอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างจากการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด อาจเกิดความกังวลใจ ลองตามการศึกษาที่ใช้เป็นฐานข้อมูลกันและลองคิดพาดหัวข่าวซ้ำใหม่นะครับ
เรื่องของเรื่องคือในต่างประเทศเนี่ย อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งผิวหนังเขาสูงมาก หนึ่งในสาเหตุที่พบคือการโดนแดดจัด ต้องบอกก่อนว่าชาติพันธุ์และสีผิวมีส่วนด้วยนะ เดี๋ยวชาวไทยเราจะตกใจ เราไม่ได้พบบ่อยแบบเขา มีการพิสูจน์ยืนยันแล้วแหละว่าการโดนแดดจัดเป็นเวลานานต่อเนื่องหายปีเป็นปัจจัยที่เกิดโรค และการหลีกเลี่ยงสามารถลดการเกิดโรคได้ จึงมีคำแนะนำจากองค์การอาหารและยาสหรัฐว่า ควรใช้สารกันแดด เพื่อลดโอกาสเกิดผิวไหม้ ระคายเคือง และลดโอกาสการเกิดมะเร็ง
สารเคมีในสารกันแดดที่ทาภายนอกนั้น จะดูดซึมเข้าร่างกายน้อยมากน้อยกว่า 0.1% และทางอย.สหรัฐเขากำหนดความเข้มข้นของสารเคมีกันแดดว่า หากวัดในเลือดไม่ควรเกิน 0.5 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร หน่วยนาโนกรัมนะครับ คือ หนึ่งในพันล้านของกรัม เมื่อมีข่าวออกมาแบบนี้ทาง อย.เขาก็จัดการศึกษาทดสอบเลย
โดยให้อาสาสมัครที่สุขภาพดี คละสีผิว จำนวน 24 คน มาใช้สารกันแดดจำนวน 4 ยี่ห้อที่วางขาย ทั้งวิธีทาโลชั่น แบบสเปรย์ แบบครีม โดยใช้เต็มที่เต็มขนาดของเขาเลย ทาเกือบทั้งตัว ห้าวัน แล้วมาวัดระดับสารเคมีหลักในสารกันแดดคือ avobenzone, oxybenzone, octocrylene, ecamsule
สิ่งที่พบนั้นจำง่าย ๆ คือ ecamsule ที่มีแต่ในครีมเท่ากันอย่างอื่นไม่มี ระดับไม่เกิน 0.5 ส่วนสารเคมีที่เหลือทั้งสามตัวเกิน 0.5 ทั้งสิ้นในทุก ๆ รูปแบบของสารกันแดด เกินตั้งแต่ 4 ไปจนถึง 100 กว่า ๆ เลย เกินไปหลายร้อยเท่าล่ะครับ
หมายความว่า เราต้องเลิกใช้งั้นหรือ ... **ไม่ใช่นะครับ** นี่คือการวัดระดับเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเจ้าสารที่เกินมาก ๆ นี้ว่าจะมีผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไรทั้งพิษในระยะสั้นและระยะยาว ทางอย.สหรัฐบอกว่า "อื้ม มันเกินจริงนะ แต่ว่าเกินแล้วจะเกิดอะไรต้องขอศึกษาดูก่อน และเรายังไม่ได้บอกว่าไม่ต้องใช้ อย่าลืมว่าประโยชน์ของมันยังมากมายในการลดอันตรายจากแสงยูวี"
จบแค่นี้ครับ อย่าไปแปลความเกินเลย ใช้วิชาผู้หญิงงอนแสดงว่าผู้หญิงรัก ไม่ได้นะครับ จะต้องรอการศึกษาต่อไป อันที่จริงวิชาสารเคมี รวมทั้งยาและสารต่าง ๆ จะบอกไว้ว่า พิษของสารต่าง ๆ มันมีทั้งนั้นแหละครับ แต่ขีดที่จะบอกว่าเป็นพิษคือ ปริมาณมันเท่าไรจึงเป็นพิษ และไอ้พิษที่ว่านั้นมันคืออะไร สุดท้ายคือ ประโยชน์ที่ได้กับพิษที่เกิดมันคุ้มกันหรือไม่
"พิษเป็นเรื่องของปริมาณ รัฐบาลเป็นเรื่องของการต่อรอง"
ที่มาฐานข้อมูลของข่าว
Matta MK, Zusterzeel R, Pilli NR, et al. Effect of Sunscreen Application Under Maximal Use Conditions on Plasma Concentration of Sunscreen Active Ingredients: A Randomized Clinical Trial. JAMA.2019;321(21):2082–2091. doi:10.1001/jama.2019.5586

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม