17 มิถุนายน 2562

หกล้มและ subdural hematoma

ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จริงของผู้ป่วยอายุ 102 ปี ที่พลัดตกหกล้มจากเตียงนอน ศีรษะกระแทกพื้นไม่แรงนัก
ท่านจะเห็นแถบบาง ๆ สีขาวสว่างขึ้นมาตรงกลางเนื้อสมองทั้งสองข้าง นั่นคือเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ตรงนี้เรียก interhemispheric subdural hematoma มาดูเนื้อสมองจะมีขนาดเล็กไม่เต็มกะโหลกศีรษะ เกิดช่องว่างระหว่างสมองและกะโหลก นี่คือสาเหตุการเกิด
เรานึกภาพตอนที่เรายังหนุ่ม ๆ สาว ๆ สมองเราสดใหม่ ขาวข้นหวานมัน กินพื้นที่เกือบเต็มกะโหลกศีรษะ เราโยกหัวไปมา เราประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย กะโหลกกับสมองมันก็ไปด้วยกัน ไม่เสียหายอะไรมาก ลองนึกว่าเรากำลังใส่ของลงกระเป๋าเดินทาง ถ้าของเราเต็มกระเป๋า มันจะไม่ค่อยเสียหายเวลาโยนกระเป๋าไปมาใช่ไหม คิดเหมือนกันเลย
แต่เมื่อเรานับฤดูฝนได้สักหกสิบฝนเจ็ดสิบหนาว มันร้าวในใจสิ้นดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น กะโหลกมันเท่าเดิม แต่สมองจะ "เหี่ยว" เมื่อเหี่ยวลงมันจะเผยหลอดเลือดดำเล็ก ๆ จำนวนมากที่เชื่อมระหว่าผิวนอกสมองกับเยื่อหุ้มสมองที่มันยังติดกับกะโหลกอยู่ (เยื่อหุ้มสมองชั้นดูราจะติดกับกะโหลก แต่ชั้นเพียจะติดสมอง) หลอดเลือดนี้ก็ยาวเท่าเดิม เพียงแต่เมื่อสมองหดเล็ก หลอดเลือดมันเลยยืดขึ้นตึงขึ้น เรียกหลอดเลือดนี้ว่า Bridging Vein
คิดเหมือนเราใช้กระเป๋าเดินทางใบเดิม แต่ข้างในใส่แค่แก้วน้ำหนึ่งใบ ถ้าเกิดการโยนการกระแทก เปรียบเสมือนการล้มศีรษะกระแทก หรือมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วกระทันหัน เช่นรถเบรกกระทันหัน แก้วจะเคลื่อนที่จนแตกได้ สมองก็เคลื่อนที่ในกะโหลกได้ แม้มีน้ำไขสันหลังและสมองคอยเป็นชั้นกันกระแทก แต่ก็จะกระแทกบ้าง และเจ้าหลอดเลือดดำที่ยึดสมองกับกะโหลกมันจะเกิดแรงฉีก (shearing force) จนฉีกขาดและเลือดออกได้เป็นเลือดออกใต้ชั้นดูรา จึงเรียกว่า subdural นั่นเอง
ถ้าเลือดออกมากก็จะมีอาการแรงดันในกะโหลกสูง หรือก้อนเลือดไปกดสมองทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่นชักเกร็ง ซึม อัมพาต แต่ถ้าเลือดออกไม่มากอาจไม่มีอาการต้องรอให้เลือดสะสมกับมาก ๆ จนเกิดอันตราย ถ้าเกิดเร็วใน 24 ชั่วโมงเรียกเฉียบพลัน ภายใน 2 สัปดาห์เรียกกึ่งเฉียบพลัน ถ้าเกิดหลังจากสองสัปดาห์เราก็เรียกว่า chronic คือเรื้อรังแล้ว อาการจะไม่มากและแยกยากจากโรคอื่น เราเรียกโรค subdural hematoma ว่า great neurologic imitator คือมันมีอาการเหมือนโรคทางสมองได้เกือบทุกอย่าง ต้องคิดไว้เสมอ โดยเฉพาะอุบัติเหตุในผู้สูงวัยแม้จะไม่รุนแรงมากก็ตาม
ผู้สูงวัยบางคนสมอง "เหี่ยว" มาก แม้จะเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดดำได้ง่าย แต่อาจไม่เกิดปัญหามากนัก เพราะพื้นที่ในสมองเขามาก การกดเบียดไม่ค่อยเกิดนัก ถ้าไปเกิดในคนหนุ่มสาวที่หัวแน่น บางทีเลือดออกไม่มากก็เกิดปัญหาได้
การรักษาหากอาการไม่รุนแรง อาจสังเกตอาการให้เลือดซึมไปเองใน 2-3 เดือน แต่หากมีอาการอันตรายอาจต้องผ่าตัดครับ อย่าลืมด้วยว่าโรคนี้มักเกิดในผู้สูงวัย ความเสี่ยงการผ่าตัดจะสูงตามไปด้วย
สิ่งที่อยากบอกคือ ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงวัยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความตายและความพิการ เพราะล้มแล้วจะมีอวัยวะเสียหายอีกมาก อวัยวะล้มเหลวตามมาเป็นลูกโซ่เลย
คติประจำวัน "คนล้มอย่าทับ คนรับอย่าทุกข์ คนรุกอย่าแทง แต่ถ้าคนแรง ๆ ระวังกาแฟหกนะครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม