03 มิถุนายน 2562

ปัญหาชีวิตและสุขเพศ ภาคหนึ่ง

ปัญหาชีวิตและสุขเพศ ภาคหนึ่ง

  เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติ เป็นประตูสำคัญที่เราใข้เปิดทางไปสู่การขยายเผ่าพันธุ์ เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เพียงแต่ตอบสนองหน้าที่ทางชีวภาพเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ความสุขในชีวิตคู่ด้วย
  โรคทางอายุรศาสตร์หลายโรคมีผลกระทบต่อความสุขทางเพศ บางโรคนอกจากกระทบความสุขยังทำให้หน้าที่การสืบพันธุ์ด้อยลงด้วย หรือกระทั่งผลจากการรักษาเองก็อาจมีผลกระทบได้ด้วย เรามาเรียนรู้ความเข้าใจและการรับมือกับปัญหากัน

  กลไกทางชีววิทยาหลายอย่างที่มาควบคุมกระบวนการเพศสัมพันธ์ โรคที่มารบกวนภาวะเหล่านี้ย่อมส่งผลด้วย

1. ความพึงพอใจ (desire) ระบบฮอร์โมนเพศ ประสาทสัมผัสทั้งห้าจะนำพารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ไปประมวลผลที่สมองออกมาเป็นความพึงพอใจ ตื่นเต้น เร้าอารมณ์ ความผิดปกติของการรับสัมผัสต่าง ๆ หรือโรคของสมองอาจจะส่งผลต่อความพึงพอใจ อารมณ์ความรู้สึกก็มีผลด้วย ภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ก็มีผลเช่นกัน

2. ความตื่นตัว (arousal)  ต่อเนื่องจากข้อแรก อาศัยการขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนต่อไป ระบบประสาทอัตโนมัติจะเริ่มทำงาน หลอดเลือดเริ่มมีการคั่งตามอวัยวะสำคัญที่ต้องใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ อวัยวะเพศหญิงจะเริ่มชุ่มฉ่ำ เต้านมยกตัว ประสาทตื่นตัวเต็มที่ ส่วนฝ่ายชายนั้นอวัยวะเพศเริ่มแข็งตัว พร้อมใช้ ความผิดปกติของฮอร์โมน ระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือดจะส่งผลกระทบได้เช่นกัน

3. ระยะต่อเนื่อง (plateau) ตอนนี้กิจกรรมเริ่มแล้ว ระบบหัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานต่อเนื่อง กล้ามเนื้อและข้อแข็งแรงพอ ระบบประสาทอัตโนมัติต้องรับความรู้สึกและกระตุ้นต่อเนื่อง อวัยวะเพศชายแข็งตัวเต็มที่ หลอดเลือดขยาย อวัยวะเพศหญิงชุ่มฉ่ำ ขยายตัว มดลูกยกตัว แน่นอนว่าหากใครบกพร่องของหัวใจหลอดเลือด ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก็จะลำบาก

4. ระยะสุดยอด (orgasm) ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานสูงสุด กล้ามเนื้อเกร็ง ความดันขึ้น หายใจเร็ว ชีพจรพุ่ง ฝ่ายชายจะมีการบีบน้ำอสุจิออกเป็นจังหวะ ฝ่ายหญิงจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อเชิงกราน อารมณ์พุ่งทะยานสูงสุด ตรงนี้ภาวะจิตใจสำคัญ บางคนกังวลและเครียดมากเมื่อมาถึงจุดที่ร่างกายเป็นอิสระจากการควบคุม ความเครียดจะส่งผลจนไม่สามารถมาถึงจุดสูงสุดได้

5. ระยะปล่อยคลาย (resolution) ระบบประสาทซิมพาเธทิกเริ่มมาควบคุม ชีพจรและอัตรการหายใจลดลง ความตื่นตัวลดลง การคั่งของเลือดในอวัยวะลดลง ตรงนี้ในหญิงจะลดลงช้ากว่ายังสามารถกระตุ้นให้เข้าสู่ระยะสุดยอดซ้ำได้อีก ส่วนชายจะลดลงเร็วมาก ต้องเริ่มข้อหนึ่งใหม่ คนหนุ่มจะกลับคืนเร็วกว่า คนสูงวัยจะช้ากว่า

  จะเห็นว่าการทำงานทางเพศจะมีความซับซ้อนในหลายระบบ หลัก ๆ คือระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นี่คือความผิดปกติทางกาย ยังมีเรื่องทางใจและความผิดปกติทางใจอีก คนที่ไม่สบายเรื้อรังจะมีความกังวลเรื่องความสามารถ ความปลอดภัยว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์จะอันตรายกับโรคที่เป็น โรคที่มีจะขัดขวาง รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากโรคและยาจะบั่นทอนกำลังใจ หรือทำให้ไม่มั่นเวลามีเพศสัมพันธ์ 
  เมื่อไม่มั่นใจจะเครียด เศร้า และซึมเศร้าหมดความต้องการทางเพศ นำพาไปสู่ความผิดปกติทั้งทางกายและใจในเรื่องเพศสัมพันธ์

ในตอนต่อไปเราจะมาเรียนรู้การจัดการปัญหาต่าง ๆ ต่อไป

จาก ลุงหมอหน้าหนุ่ม เจ้าของสมญา
"อยู่บนเตียงร้อนกว่าไฟ อยู่ในใจร้อนกว่าแฟน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม