16 ธันวาคม 2560

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง บุหรี่ ตอนที่ 2

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง บุหรี่ ตอนที่ 2
เอาล่ะสมมติว่าได้ผลเต็มที่เลย 60% แล้วคนที่เลิกไม่ได้ล่ะ ทำอย่างไร...ก็ต้องจัดบริการเข้ารับการรักษาอีกนั่นแหละ แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบเดิมมันต้องเข้มข้น ลงลึก เข้าใจมากขึ้น เพราะมันไม่ได้ผลมาแล้วการใช้วิธีเดิมแบบเดิม มันก็เลิกไม่ได้หรอก คนที่เลิกไม่ได้ถ้ากลับมาเจอการรักษาแบบเดิมเขาก็ไม่กลับมา คนที่ทำคลินิกต้องมีกึ๋นพอที่จะปรับเปลี่ยน ปรึกษานักจิตวิทยา ให้เวลากับเขา ดึงพลังครอบครัวมาใช้เต็มที่
พลังครอบครัวนี่สำคัญมากนะครับ มากกว่ายาอีก ถ้าครอบครัวเห็นด้วยช่วยกัน โอกาสเลิกจะมากมาย ถ้าครอบครัวทอดทิ้งเห็นว่าเลิกสองทีสามทีก็ยังไปสูบอีก ชีวิตเขา เขาเลือกเอง...ถามจริงๆ จะทอดทิ้งเขาโดยที่ไม่ช่วยหรือ เขาคือผู้ป่วยนะ
ทำทั้งหมดให้เต็มที่ก่อนค่อยไปพูดถึงว่าถ้าเลิกไม่ได้จริงๆ หรือเข้าสู่ขั้นตอนการเลิกจะใช้ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงอย่างไร (Potential Reduced Exposure Products) หรือคำศัพท์ใหม่ที่ทาง US FDA เรียกคือ Modified Risk Tobacco Products
ทำไมไม่เลิกให้เด็ดขาดไปเลย ก็เพราะบางส่วนยังทำไม่ได้ การติดนิโคตินมันรุนแรงมากนะครับและเมื่อเราขาดนิโคตินเราก็หาซื้อได้ง่ายเสียด้วย ในอดีตนั้นแหล่งของนิโคตินได้จากการเผาไหม้ใบยาสูบเท่านั้น ถ้าเราอยากจะได้นิโคตินเราก็ต้องสูบยา คือได้ควันพิษ สารระคายเคือง สารก่อมะเร็งต่างๆ มีผลการพิสูจน์ออกมาค่อนข้างชัดว่า มนุษย์ติดนิโคตินในบุหรี่แต่ตายจากสารพิษในควันเผาไหม้ของบุหรี่ (combustive cigarette)
ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาจึงมีการพยายามทำผลิตภัณฑ์ที่ให้นิโคตินโดยลดควันลง หรือแม้แต่ลดนิโคตินลง เพื่อไม่ให้ติด (หมายถึงมีนิโคตินเพียงพอที่จะใช้บรรเทาความอยาก แต่ไม่มากในระดับติด...แต่อย่าลืมว่าคนพวกนี้เขาติดนิโคตินไปแล้วนะ)
***ใจความสำคัญคือ การที่อันตรายมันลดลง ไม่ได้หมายความว่า มันจะสูบจะเสพได้อย่างปลอดภัย หรือ จะหันมาสูบมาเสพสิ่งนี้จะดีกว่า***
ประโยคนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจจะเป็นการเปลี่ยนจากบุหรี่ไปเป็นผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง คือ แค่เปลี่ยนชนิดสิ่งเสพติดเท่านั้น และถ้าไม่เข้าใจก็จะดึงนักสูบหน้าใหม่เข้ามา เพราะเขาเห็นว่า ก็มันปลอดภัยกว่า
ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ควรจำกัดการใช้เฉพาะผู้ที่ผ่านกระบวนการเลิกอย่างจริงจังมาแล้ว และล้มเหลวมาหลายครั้ง หรือผู้ที่กำลังลังเลว่าจะเลิก หรืออยู่ในกระบวนการเลิก ไม่ใช่..เริ่มต้นใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ หันมาเสพผลิตภัณฑ์ใหม่แทนที่ของเดิม
การที่ไม่มีการควบคุมที่ดีจะทำให้มีการใช้อย่างไร้ขอบเขต กลายเป็นมีปัญหาใหม่มาแทนปัญหาเดิม
ผลิตภัณฑ์พวกนี้มีมากขึ้น ยิ่งใน 20 ปีมานี้ยิ่งมากขึ้น เพราะว่าคนเริ่มต้องการควันพิษน้อยลง แต่ยังถอนนิโคตินได้ไม่ดีเท่าไหร่ การใช้บุหรี่มวนแบบเดิมลดลง หรือ การเริ่มสูบบุหรี่มวนลดลง เพราะโทษมันชัดเจน การรณรงค์ของภาครัฐ NGO ได้ผลดีมาก การควบคุมการสูบ ภาษี กฎหมายเริ่มแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของมันในการควบคุมยาสูบ
แต่หากเราไม่ควบคุมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ว่านี้ เราอาจเจอปัญหาใหม่แทน ในหลายๆประเทศหรือแม้แต่ องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและยา ก็กำลังทำการศึกษาผลดี ผลเสีย วิธีการควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ การศึกษาทั้งเห็นด้วยเห็นต่าง ออกมาเรื่อยๆ คงต้องติดตามกันต่อไป
อาทิเช่น
SNUS ...คล้ายๆใบยาสูบบดละเอียด บรรจุซองเอาไว้อมที่กระพุ้งแก้ม นิยมมากในยุโรปเหนือ
low tar cigarette ... ใช้ใบยาสูบที่ผ่านกระบวนการลดสารก่อพิษลง
low nicotine cigarette ... ใช้ใบยาสูบที่สกัดเอานิโคตินออกไปบ้าง
electronic cigarette ... ใช้น้ำยาสารละลายนิโคตินเหลว เผาไหม้ผ่านระบบไฟฟ้า
heat not burn ... ใช้การเผาไหม้ที่ไม่ถึงจุดอันตรายของการสร้างพิษ แต่ยังได้นิโคติน
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำยาใช้เป็นยาเพื่อเลิกบุหรี่ก็มีเช่น หมากฝรั่งนิโคติน,ยาอมนิโคติน และแผ่นแปะนิโคติน กลุ่มนี้ได้รับการศึกษาแบบยามาแล้วว่าใช้ได้ ช่วยลดการสูบบุหรี่ โทษไม่มากหากใช้ตามคำแนะนำ วางจำหน่ายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์
ส่วนแบบ spray และ inhaler สามารถใช้เป็นยาได้ในการเลิกบุหรี่ภายใต้ใบสั่งยาของแพทย์ เรียกว่าพอมันมีกระบวนการที่ซับซ้อนและอาจเกิดอันตรายก็ต้องควบคุม
แต่ถ้าถามว่า เอามาลองๆใช้เองเผื่อจะเลิกได้ โอกาสเลิกได้จะน้อย ควรใช้ในคลินิกเลิกบุหรี่และคู่กับยาอดบุหรี่จะดีกว่ามาก ต้องใช้ในคนที่เจตนาจะเลิกเท่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ผู้สูบบุหรี่อยู่หนึ่งข้อ คือ....มันไม่ได้การชดเชยพฤติกรรมการพ่นควัน และปฏิกิริยาของมือ ปาก ที่พ่นควันจากการสูบบุหรี่ .. อันนี้สำคัญมากนะและเป็นปัจจัยที่สามในการติดบุหรี่ นอกจากสารเสพติดและสิ่งแวดล้อมทางสังคม
กลับถึง Modified Risk Tobacco Products ที่ทางองค์การอาหารและยา สถาบันสุขภาพต่างๆในยุโรป อเมริกาและเอเชียกำลังทำการศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อการควบคุมการใช้ที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้ซ้ำรอยเดิมที่บุหรี่เคยทำเอาไว้
ก็ต้องบอกว่าข้อมูลทั้งหลายตอนนี้ ออกมาในสองลักษณะ อย่างแรกคือ ปริมาณสารพิษที่น้อยกว่าบุหรี่มวน อย่างที่สองคือผลที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์
สำหรับสารพิษ สารก่อมะเร็งนั้น ข้อมูลชัดเจนและตรงกันว่า สารก่อมะเร็งน้อยกว่าบุหรี่มวนชัดเจน อันนี้คงสรุปได้แน่ แต่สารก่อภูมิแพ้ สารก่อการอักเสบ สารที่กระตุ้นโรคหลอดเลือด คงต้องศึกษาเพิ่มอีก มีทั้งการศึกษาที่พบผลเสียและไม่พบ อันนี้ต้องรอดูต่อไป
รวมไปถึงควันบุหรี่มือสองที่จะส่งผลต่อคนรอบข้าง ผลก็ออกมาว่า สารพิษก่อมะเร็งต่างๆในควันที่กระจายออกมาสู่สิ่งแวดล้อมนั้น น้อยกว่าบุหรี่มวนเผาไหม้ของเดิมชัดเจน ส่วนสารอื่นๆก็ต้องรอผล
**แต่พิสูจน์ว่าลดลง ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยในตัวคนอย่างชัดเจน***
เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน พันธุกรรม โรคร่วมอื่นๆ อันนี้แหละที่ต้องอาศัยการศึกษาเชิงคลินิก ที่ปัจจุบันยังมีชิ้นงานที่ดีพอจะแปลผลได้ ไม่มากนัก และงานที่ออกแบบมาดีก็ยังไม่เสร็จ ต้องรอติดตามต่อไป แว่วๆมีงานวิจัยที่ดีทำโดย national institute of health ของอเมริกาทำเพื่อตอบคำถามเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวน
เคยมีการศึกษาของอังกฤษ...บอกก่อนว่าทำไมต้องอังกฤษและสหราชอาณาจักร ก็เพราะเป็นประเทศที่อนุญาตให้ใช้และการควบคุมที่ดี สามารถทำงานวิจัยได้ ส่วนมากของงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าก็มาจากสหราชอาณาจักร ว่าสารพิษสารก่อมะเร็งก็ไม่ได้มากกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมทั่วไป แต่ว่าสารพิษจากอุตสาหกรรมและการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามันก็มีที่มาต่างกันนะ ไม่ได้เทียบกันตรงๆ
ต้องรอผลการศึกษาและผลกระทบในคน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการจดทะเบียนและออกแบบการศึกษาอีกนาน จึงจะได้ผลชัดๆ ทางการแพทย์เราต้องใช้ผลการวิจัยที่ชัดเจนในมนุษย์ แต่คำถามที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้บุหรี่คือ แล้วเวลาที่รอนั้นจะให้ใช้บุหรี่มวนที่ทราบถึงอันตรายต่อไปหรือ (อย่าลืม เรากำลังพูดถึงกลุ่มที่เลิกไม่ได้นะครับ) ปัจจุบันงานวิจัยส่วนมากไม่ได้เป็นการทดลองการแพทย์ จะเป็นงานวิจัยเชิงเคมี หรือการติดตามผลในระยะยาวมากกว่า
จึงสรุปได้ว่า ณ ปัจจุบัน คำตอบของบุหรี่ไฟฟ้ามีว่า สารก่อมะเร็งที่เรารู้จักน้อยกว่าบุหรี่มวนเผาไหม้ ส่วนสารที่เราไม่รู้จักหรือรู้จักแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าในรูปแบบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามันจะอันตรายมากน้อยเพียงใด ต้องรอการศึกษา
สำหรับคำถามยอดฮิต นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเลิกบุหรี่ได้ไหม อันนี้ก็มีคนบอกว่าทั้งได้ทั้งไม่ได้ คนที่บอกว่าได้คือ เลิกบุหรี่มวนได้นั้น ส่วนมากก็จะตั้งใจเลิกอยู่แล้ว ส่วนคนที่เลิกไม่ได้ก็มีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเรื่องความยุ่งยากของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือเรื่องการซื้อหาที่ผิดกฎหมาย ราคาแพง ก็กลับไปสูบบุหรี่มวนเพราะยังต้องการนิโคติน
แล้วจะเลิกหมดเลย ทั้งมวนทั้งไฟฟ้ามีไหม...มันก็มีนะครับ หรือคนที่เปลี่ยนสารเสพติดจากมวนมาเป็นไฟฟ้าก็มีเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีนิโคตินให้เสพติดอยู่ด้วย และถ้าใช้แบบนิโคตินเป็นศูนย์เลย ดีไหม ... แหมอย่าลืมนะครับว่าเขาต้องการนิโคติน การปรับเป็นศูนย์เลยก็จะไม่ลดอาการ craving ผลการศึกษาทั้งในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคตินพบว่า โอกาสเลิกได้น้อยกว่าแบบนิโคตินน้อยๆนะครับ
ยิ่งบุหรี่มวนยาสูบที่มีนิโคตินน้อยยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะคนจะสูบด้วยจำนวนมวนที่เพิ่มขึ้น จะได้นิโคตินเท่าเดิม ได้ควันเยอะขึ้นไปอีก การศึกษาที่บอกว่าเลิกได้ต้องบอกว่าใช้หลายๆมาตรการและควบคุมใกล้ชิดครับ
สรุปว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวน หรือเลิกผลิตภัณฑ์นิโคตินทั้งหมดไปเลยนั้น ยังบวกลบ ยังไม่มีความชัดเจนครับ อีกไม่นานจะมีผลการศึกษาขนาดใหญ่ที่เป็น การทดลองทางการแพทย์ออกมา (SREC) อ่านคร่าวๆในแนวทางการทดลองดูน่าเชื่อถือและตัดตัวแปรปรวนได้ดี
เราไปที่อีกผลิตภัณฑ์คือ heat not burn คือการใช้ใบยาสูบนี่แหละมาทำเป็นบุหรี่ที่ใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อที่จะเผาใบยา แต่ว่าไม่ได้ "burn" เพราะในจุดที่ไหม้คือประมาณ 800 องศาเซลเซียสที่ปลายวาบบุหรี่นั้นจะมีสารพิษออกมาในควัน แต่ถ้าปรับอุณหภูมิเผาไหม้ให้ลดลงมาที่ 300 องศา (ถึงต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ) ก็จะมีนิโคตินออกมาพอๆกับบุหรี่มวน แต่สารพิษก่อมะเร็งออกมาน้อยกว่า ทั้งจากคนสูบและอากาศรอบข้าง
มันเป็นสารที่เรารู้จัก เผาไหม้แบบเดิมเพียงแต่ปรับที่ การเผาไหม้ ไม่ใช่สารใหม่คือ e-liquid แบบบุหรี่ไฟฟ้า
เช่นกัน การลดสารพิษลงเป็นการศึกษาเชิงเคมี เทียบกับบุหรี่มวน แต่ไม่ได้หมายถึงสารอันตรายที่ลดลงจะไม่เกิดผลในระยะยาว คงต้องติดตามดูกันต่อไป กับการศึกษาในระยะต่อมาในประเทศที่อนุมัติให้ใช้แล้วเช่น ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ว่าผลการใช้ระยะยาวเป็นแบบใด
และคงใช้เลิกบุหรี่มวนไม่ได้แน่ เพราะมันคือใบยาสูบเหมือนกัน น่าจะใช้กับคนที่เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ แต่ไม่ต้องการควันพิษเต็มรูปแบบจากบุหรี่มวน
ข้อมูลการศึกษาน้อยกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเพิ่งผลิตและปริมาณการใช้ไม่มากเท่าบุหรี่ไฟฟ้า
จะเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดคือ เลิกควัน เลิกนิโคติน ...วิธีที่ดีที่สุดเท่าที่มีการศึกษาในปัจจุบันตามข้อมูลเชิงประจักษ์คือ เข้ารับการบำบัดในคลินิกเลิกบุหรี่ ที่จะมีวิธีรักษาภายใต้การควบคุมแบบต่างๆ และอาจไม่ได้เข้าครั้งเดียวเลิกได้ บางคนต้องเข้าหลายครั้ง
เลิกทุกอย่างดีที่สุด ในกรณียังเลิกไม่ได้ หรือ ไม่ต้องการเลิก การใช้ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง potential reduced exposure products ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง (ที่ผิดกฎหมายบ้านเรานะ) และถึงแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็ยังคงต้องชักชวนให้เลิกทั้งหมดอยู่ดี
ส่วนตัวแล้วผมแนะนำการรักษาแบบคลินิกเลิกบุหรี่และใช้ยา ส่วนสารชดเชยนิโคตินใช้บ้างเมื่อจำเป็น ส่วนผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงนั้น ส่วนตัวไม่แนะนำให้ใช้ครับ แนะนำเลิกทั้งหมด (แม้ว่ามันจะยากมากก็ตามที) ส่วนถ้าใครจะใช้ต้องศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนครับ ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยนะครับ
น้ำหนักปัญหา และสิ่งที่เป็นอันตรายมากตอนนี้ผมมองว่า ก็ยังเป็นบุหรี่มวน (combustive cigarette) ที่ยังใช้กันมาก หาซื้อง่าย เด็กและวัยรุ่นก็ยังใช้ เป็นรูปแบบการเสพนิโคตินที่แพร่หลายและมากที่สุด การควบคุมและรณรงค์ภาครัฐแม้ได้ผล แต่ก็ยังเหลือขนาดปัญหามหาศาลให้แก้ไขกันต่อไป
จบ..มุมมองเรื่องบุหรี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม