คำแนะนำการคัดกรองโรคเบาหวานและภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ปี 2021 จาก USPSTF พวกท่านคิดเห็นประการใด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ?
ปัจจุบันคำแนะนำการคัดกรองเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงเช่น มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน มีน้ำหนักตัวเกิน เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ของสมาคมเบาหวานและต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในอเมริกาแนะนำคัดกรองตั้งแต่อายุ 40-70 ปี แต่ในปีนี้ US Preventive Services and Task Forces ให้คำแนะนำที่ต่างไปดังนี้
-----------------------------------------------------------
แนะนำให้คัดกรองเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) ในผู้ที่อายุ 35-70 ปี ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 25) หรือโรคอ้วน (BMI มากกว่า 30) ที่ต้องไม่มีอาการของโรคเบาหวาน โดยวิธีคัดกรองเป็นหนึ่งในสามวิธีนี้คือ
1. ตรวจระดับน้ำตาลหลอดเลือดดำหลังงดอาหาร 6 ชั่วโมง (fasting blood sugar : FBS)
2. ตรวจวัดค่าระดับ Hemoglobin A1c โดยวิธีการทดสอบที่ได้รับการรับรอง
3. วัดค่าน้ำตาลหลอดเลือดดำที่สองชั่วโมง หลังกินน้ำตาล 75 กรัม (oral glucose tolerance test : OGTT)
ค่าที่ใช้เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานและภาวะก่อนเบาหวานเป็นดังนี้
1. วัด FBS ตั้งแต่ 126 mg/dL , ถ้าอยู่ในช่วง 100-125 เรียก prediabetes
2. HbA1c ตั้งแต่ 6.5% , ถ้าอยู่ในช่วง 5.7% - 6.4% เรียก prediabetes
3. OGTT ตั้งแต่ 200 mg/dL , ถ้าอยู่ในช่วง 140-199 เรียก prediabetes
ถ้าปรกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี
------------------------------------------------------------
ทำไมแนะนำแบบนี้ เพราะการศึกษาปัจจุบันพบว่า พบอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานมากขึ้นในคนที่อายุน้อย ตัวเลขของการศึกษาพบว่าอายุ 35 ปีขึ้นไปก็พบมากขึ้นแล้ว และภาวะก่อนเบาหวานก็พบมากขึ้นเช่นกัน
โดยที่คนอายุ 35-40 นี้มีความตระหนักเข้าใจเรื่องเบาหวานว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงเพียง 20% เมื่อตรวจมากศึกษามาก ตัวเลขพบมากขึ้นแต่ปรากฏว่าความเอาใจใส่ทั้งหมอและคนไข้ ในกลุ่ม prediabetes มีแค่ 15%
คำแนะนำนี้น่าจะช่วยให้กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเข้าถึงการดูแลรักษามากขึ้น และเพิ่มการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งตรวจเจอภาวะ prediabetes มากขึ้น
คำถามคือตรวจพบเร็วขึ้นแล้วดีอย่างไร .. การศึกษาปัจจุบันพบไปในทางเดียวกันคือ การดูแลรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่แรกจะลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนและลดการเสียชีวิต หรือตั้งแต่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่อยู่ในช่วง prediabetes จะลดการเกิดเบาหวานและหากเป็นเบาหวานก็จะลดผลแทรกซ้อนได้ แต่หลักฐานสนับสนุนไม่หนักแน่นเท่าป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ไม่ว่าจะใช้ยา (metformin) หรือไม่ก็ตาม
เรื่องการชะลอการเกิดเบาหวาน มีทั้งการปรับชีวิตและการใช้ยา metformin ผมไม่ได้กล่าวถึงตรงนี้นะครับ ท่านสามารถไปอ่านเพิ่มได้ ผมระบุอ้างอิงไว้ตอนท้ายเรียบร้อยแล้ว
ดูในมุมมองของคนไข้ ก็น่าจะมีประโยชน์ในแง่รู้โรคและรู้ความเสี่ยงเร็วขึ้น จัดการได้ดีขึ้น ผลแทรกซ้อนในอนาคตลดลง ในแง่ผู้รักษาก็น่าจะดี เพราะเบาหวานระยะต้นรักษาไม่วุ่นวายนัก และไม่ต้องไปจัดการผลแทรกซ้อนมากมายในอนาคต
แต่ปัญหาจากคำแนะนำนี้ก็มีพอสมควร หากไปศึกษาในบทบรรณาธิการของวารสาร JAMA และ JAMA Internal Medicine ที่วิเคราะห์วิจารณ์คำประกาศของ USPSTF นี้ เขาสรุปข้อสังเกตของคำแนะนำนี้ว่า
เป็นสิ่งที่ดีที่ออกมาแนะนำแบบนี้ เพราะตอนนี้การรักษาโรคแทรกซ้อนของเบาหวานยุ่งยากและสิ้นเปลือง ถ้าจัดการได้ตั้งแต่แรกก็ดี แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้เกิดมาตรการที่มีประสิทธิผลจริง
ที่ผ่านมาปริมาณคนไข้จากเกณฑ์เดิมคือ 40 ปียังไม่สามารถจัดการได้ดี ลงทุนแต่ไม่ได้ผลดีเลย หากมีปริมาณคนไข้มากขึ้นจากที่เราปรับลดอายุและตรวจมากขึ้น แล้วยังใช้มาตรการเดิม ความสำเร็จจะต่ำ ทำให้แม้จะลงทุนค้นหาคนไข้เร็วขึ้น แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่ดีขึ้น เมื่อบวกลบคูณหารแล้วอาจจะแย่ลง ในแง่ภาพรวมสาธารณสุข
และอีกประการคือต้องระวังเรื่องผลเสียจากการใช้ยา ในกลุ่มที่เป็น prediabetes เนื่องจากประโยชน์จากยาไม่มาก แต่หากเกิดผลข้างเคียงจากยาคือน้ำตาลต่ำ ก็อาจทำให้การลงทุนปรับเกณฑ์และค้นหาผู้ป่วย ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ตั้งใจ
มันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำหรับความตั้งใจที่จะคัดกรองมากขึ้นรักษาเร็วขึ้น และต้องปรับมาตรการใหม่ให้ทรงประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล ไม่อย่างนั้นการคัดกรองเพิ่มขึ้นก็สูญเปล่าและสิ้นเปลือง
ที่มา อ่านฟรี (เกือบหมด)
1. Grant RW, Gopalan A, Jaffe MG. Updated USPSTF Screening Recommendations for Diabetes: Identification of Abnormal Glucose Metabolism in Younger Adults. JAMA Intern Med. Published online August 24, 2021. doi:10.1001/jamainternmed.2021.4886
2. Gregg EW, Moin T. New USPSTF Recommendations for Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: An Opportunity to Create National Momentum. JAMA. 2021;326(8):701–703. doi:10.1001/jama.2021.12559
3. Jonas DE, Crotty K, Yun JDY, et al. Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;326(8):744–760. doi:10.1001/jama.2021.10403
4. US Preventive Services Task Force. Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: US Preventive Services Task Force Recommendation Statement. JAMA. 2021;326(8):736–743. doi:10.1001/jama.2021.12531
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น