อีกหนึ่งท่าไม้ตายในการจัดการโควิด-19 การจับคว่ำ (prone position)
การจัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าคว่ำ เป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันแบบ ARDS มานานแล้ว ผลออกมาว่าลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มออกซิเจนในเลือดได้ดี แต่ที่เราใช้น้อยเพราะการจับคว่ำต้องอาศัยความชำนาญในการดูแลเรื่องระบบไหลเวียนและการพยาบาลระบบหายใจ แต่ตอนนี้เริ่มใช้แพร่หลายมากขึ้น
เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด เราทราบดีว่าหากผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระยะ critical (ระดับที่รุนแรงไปกว่า severe ที่เราได้ยินว่าผู้ป่วยรุนแรง) อัตราการเสียชีวิตจะสูงมาก และกว่าจะถึงภาวะวิกฤต ผู้ป่วยผ่านการรักษามาเกือบหมดแล้ว เราจะยังมีไม้ตายใดมาช่วยอีกหรือไม่
ก่อนหน้านี้เรามีข้อมูลจากการศึกษา PROSEVA บอกว่าการจับคว่ำช่วยการกระจายออกซิเจนได้ดีขึ้น ระดับออกซิเจนในเลือดและเนื้อเยื่อสูงขึ้น ในวันนี้กลุ่มการศึกษา STOP-COVID ที่อเมริกาได้ทำการศึกษาแบบรวบรวมข้อมูล จากผู้ป่วยที่เป็นโควิดวิกฤตมาทำการวิเคราะห์ (มันเป็นข้อมูลที่เจตนาเก็บอยู่แล้ว วางแผนเก็บอยู่แล้ว) ทำการศึกษาเพิ่มเติมจากข้อมูลเดิม สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการจับคว่ำ
พบว่าผู้ที่ได้รับการจับคว่ำตั้งแต่แรก ๆ คือภายในสองวันหลังจากที่รับเข้าไอซียู จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้คว่ำ 16% (HR 0.84, 95%CI 0.73-0.97) หลังจากที่ปรับแต่งตัวแปรทั้งหมดแล้ว และประโยชน์ที่ได้นี้ น้ำหนักส่วนมากมาจากกลุ่มผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนรุนแรง (PaO2/FiO2 < 100)
การศึกษา STOP-COVID นี้เล็งผลที่ลดอัตราการเสียชีวิต ที่ได้ประโยชน์เพิ่มจาก PROSEVA ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ออกซิเจนที่ดีขึ้น จึงบอกเราว่า การจัดท่าคว่ำตั้งแต่แรกในผู้ป่วยโควิด-19 ที่วิกฤตรุนแรงนั้นเกิดประโยชน์แน่
แต่ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ อาการไม่รุนแรงหรือยังไม่วิกฤตนะครับ ผลอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นแบบนี้ เพราะการจับคว่ำต้องทำในไอซียูและมีการดูแลพิเศษ หากเราไปใช้เอง เช่นติดโควิดอาการไม่รุนแรง รักษาที่บ้าน ไปนอนคว่ำอาจจะสำลัก อาจจะอึดอัดได้ ออกซิเจนอาจลดลง เรียกว่าท่าไม้ตายก็ต้องใช้ในเวลาและจังหวะที่เหมาะสมเช่นกันครับ
โช...ริวเคนนน
ภาพ : Dorando Pietri นักกีฬาทีมชาติอิตาลี เข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิก กรุงลอนดอน ปี 1908 เขาเริ่มวิ่งในอันดับท้าย ๆ แต่เริ่มเร่งความเร็วในครึ่งหลังจนเป็นผู้นำนำเข้ามาในสนาม ในอีกไม่กี่สิบเมตรก่อนถึงเส้นชัย เขาวิ่งผิดทางและสับสน สุดท้ายก็ล้มลงเพราะอาการขาดน้ำ เขาล้มลงก่อนเข้าเส้นชัย สี่ครั้งและลุกขึ้นจากการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ (ขนาดล้ม ๆ ลุก ๆ ยังเข้าเส้นชัยก่อนที่สองถึงสี่นาที) สุดท้ายก็ไม่ได้รับการรับรองชัยชนะเพราะได้รับการช่วยเหลือ ถึงแม้จะพ่ายแพ้ในเกม แต่ชนะใจชาวลอนดอนทุกคน
อ่านฟรีนะจ๊ะ
Mathews, Kusum S. MD, MPH, MSCR1,2; Soh, Howard MD, MS1; Shaefi, Shahzad MD, MPH3; Wang, Wei PhD4; Bose, Sonali MD1; Coca, Steven MD5; Gupta, Shruti MD, MPH6; Hayek, Salim S. MD7; Srivastava, Anand MD, MPH8; Brenner, Samantha K. MD, MPH9,10; Radbel, Jared MD11; Green, Adam MD, MBA12; Sutherland, Anne MD13; Leonberg-Yoo, Amanda MD, MS14; Shehata, Alexandre MD15; Schenck, Edward J. MD16; Short, Samuel A.P. BA17; Hernán, Miguel A. MD, DrPH18–20; Chan, Lili MD, MSCR5; Leaf, David E. MD, MMSc6; for the STOP-COVID Investigators Prone Positioning and Survival in Mechanically Ventilated Patients With Coronavirus Disease 2019–Related Respiratory Failure*, Critical Care Medicine: July 2021 - Volume 49 - Issue 7 - p 1026-1037 doi: 10.1097/CCM.0000000000004938
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น