22 พฤศจิกายน 2561

สถาณการณ์การใช้ spirometry ในการวินิจฉัย COPD

การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ที่เรียกรวมกันในภาษาอังกฤษว่า COPD ประกอบด้วยสามส่วนคือ ประวัติและการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรค มีการสัมผัสแก๊สหรือมลพิษก่อโรค และต้องมีการตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อพิสูจน์การตีบแคบของหลอดลม ตามเกณฑ์การดูแลรักษาโรคที่ชื่อว่า GOLD guidelines โรคนี้จะดีหน่อยมีแนวทางแค่อันเดียว
ใครที่เคยตรวจสมรรถภาพปอดจะเข้าใจดีว่า มันไม่ง่ายเลย ต้องหายใจออกแรงและนาน หายใจเข้าสุด ทำซ้ำหลายครั้ง สำหรับผู้ป่วยถือว่าไม่ง่าย ผู้ที่คอยควบคุมการทดสอบต้องมีความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างดี สมาคมอุรเวชช์ของเราได้จัดอบรมและให้ประกาศนียบัตรอยู่เป็นประจำ เพื่อกระจายผู้ที่ใช้ได้ใช้เป็นไปที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศ
ความสำคัญในการตรวจคือสามารถระบุการตีบแคบของหลอดลม ความเร็วลมหายใจออกที่หนึ่งวินาที การทดสอบใช้ยาสูดพ่นขยายหลอดลมว่าตอบสนองหรือไม่ ค่าที่ระบุคือ FEV1/FVC น้อยกว่า 0.7 ถือว่ามีการตีบแคบของหลอดลม และใช้ค่า FEV1 มาแบ่งระดับการตีบแคบออกเป็นระดับน้อย ปานกลาง มาก และรุนแรง
ถือว่ามีความสำคัญมากในการวินิจฉัย แต่การตรวจสมรรถภาพปอดหรือ สไปโรเมตรี้ กลับพบว่ายังไม่แพร่หลายในประเทศไทยนัก
จากงานวิจัยแบบการใช้แบบสอบถามของ HITAP อันนี้น่าสนใจทีเดียวว่า การตรวจสมรรถภาพปอดถือเป็นการตรวจจำเป็นในการวินิจฉัยมาตรฐาน แล้วสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มีการตรวจมากน้อยเพียงใด อะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่ได้รับการตรวจ เพราะการตรวจนี้นอกจากจะยืนยันการวินิจฉัย ยังสามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะต้นในขณะไม่มีอาการในผู้ที่มีความเสี่ยง และเครื่องตรวจ peak flow ที่ใช้ในคลินิกโรคหืดนั้น แม้มีความไวในการวินิจฉัยบ้าง แต่ไม่มีความจำเพาะมากพอในการวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง
แต่ทำไมเราตรวจกันน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ภาระโรค COPD มีมากมายเลยทีเดียว
ผมขอนำเสนอส่วนหนึ่งของงานวิจัยคร่าว ๆ ท่านสามารถคลิกไปอ่านฉบับเต็มได้ฟรีตามลิ้งก์ด้านล่างครับ
ปัญหาสำคัญประการแรกคือ ไม่มีเครื่อง รพ.ชุมชนกว่า 60% ไม่มีเครื่องใช้ โรงพยาบาลทั่วไปขาดแคลนเครื่องเพียง 12% แต่ว่าเกินครึ่งมีเครื่องแค่เครื่องเดียวซึ่งไม่น่าจะจัดการบริการได้หมดแน่ ๆ เหตุผลหลักคือไม่มีงบประมาณ รองลงมาคือไม่มีบุคลากร ทั้ง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบผู้ป่วยปริมาณมากมาย (อันนี้ยังไม่นับรวมหอบหืดนะ)
แพทย์เองก็ขาดความตระหนักในการใช้ คิดว่าใช้ไปก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการรักษาใด ๆ แม้แต่ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีเครื่องมือ กว่า 70% ของเครื่องมือเหล่านั้นใช้น้อยกว่า 40 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่รพ.ทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ อัตราการใช้เครื่องสูงมาก หรือใช้ไม่ทันกับคนไข้นั่นเอง
บุคลากรที่ไม่มีเวลาในการบริหารเครื่อง ไม่มีบุคลากรหมุนเวียนเพียงพอ
และถามว่าต้องการเพิ่มไหม อีกหลายที่ตอบยังไม่ต้องการเพราะอาจไม่ได้เพิ่มอรรถประโยชน์ขึ้นจากเดิม และไม่มีงบประมาณรวมทั้งทรัพยากรบุคคลด้วย
เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จะต้องดูแลเพราะแนวทางการรักษาในปัจจุบัน หากเป็นถุงลมโป่งพองเราจะลดการใช้ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ ให้เมื่อเสี่ยงกำเริบมากหรือมีเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟิลในเลือดสูง ส่วนการรักษาหอบหืดจะเน้นการใช้ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ แม้อาการสองโรคดูเหมือน ๆ กัน แต่แนวคิด แนวทางการรักษาต่างกันสุดขั้วเลยทีเดียว การตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อการวินิจฉัยจึงมีความสำคัญมากทีเดียว
ลิ้งก์ไปงานวิจัย
http://www.hitap.net/documents/173095…
http://www.hitap.net/documents/173095?fbclid=IwAR0gvehqVrjYmmxf5koMpV0mGq2WFeYrUBzcll85vRXSU0TJiYwlSujG5Sk


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม