19 พฤศจิกายน 2561

สารต้านการแข็งตัวเลือดในน้ำลาย

เราอาจจะเคยเรียนรู้มาบ้างว่า น้ำลายค้างคาวชนิดหนึ่งชื่อ vampire bat มีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้สามารถดูดเลือดสัตว์ได้คือสาร desmoteplase เอียะ...คุณเอ็ดเวิร์ดใข้น้ำลายอ่ะ อี๋ หรือน้ำลายของตัวหมัดบางชนิดก็มีสารนี้เช่นกัน ชื่อสาร ixonexin สารเคมีจากตัวทากก็มี hirudin ที่เป็นต้นธารการค้นพบยา heparin
แล้วน้ำลายคนเราล่ะ
ในอดีตเคยมีข้อสังเกตว่าเลือดที่ออกในปากหยุดยากในผู้ป่วยอุบัติเหตุ หรือเนื้องอก หรือหลังผ่าตัด ในอดีตมีความคิดว่าน่าจะมีสารต้านการแข็งตัวของเลือดเหมือนสัตว์อื่น ๆ หรือไม่ มีการศึกษาในปี 1964 ที่แมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ในวารสาร Journal of Dental Research ทำการทดลองวัดสารต้านการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อ plasminogen และสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายลิ่มเลือด
ก่อนต่อไป มาแวะทำความเข้าใจนิด ลิ่มเลือดคนเราเป็นหยินหยางสร้างและสลายพร้อม ๆ กัน การสร้างลิ่มเลือดก็เมืรอเกิดแผล เกิดการกระตุ้น พอมีลิ่มมากก็ไปกระตุ้นการทำลายไม่ให้มากเกินไป สุดยอดเนอะ เจ้ากระบวนการสลายลิ่มเลือดจะใช้สารที่ชื่อว่า plasmin ไปทำลาย fibrin ให้แยกจากกัน ไฟบรินคือเชือกที่ยึดลิ่มเลือดนั่นแหละ
ยาละลายลิ่มเลือดเช่น streptokinase ที่ให้เวลาหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หรือ alteplase (plasminogen activator) ที่ให้เวลาหลอดเลือดสมองตีบ ยากลุ่มนี้ไปกระตุ้นการสลายลิ่มเลือดในจุดที่มีการสร้างลิ่มเกินไป ก็จุดตัน (ที่ไม่ใช่คนขายชาเขียว) นั่นแหละ
เอาล่ะเรามาต่อการศึกษาในปี 1964 พบว่าน้ำลายนั้นมีสมบัติการละลายลิ่มเลือดด้วยตัวเองน้อยมาก และความสามารถในการกระตุ้นการทำงาน plasmin ก็ไม่มาก แต่ว่าตัวมันเองสามารถไปกระตุ้นสารละลายลิ่มเลือดอันอื่นให้ทำงานมากขึ้นได้ หรือถ้ามองโดยรวมง่าย ๆ ก็เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ผู้ให้การสนับสนุน ไม่ใช่ตัวการ
อย่างไรก็ดี สุดท้ายก็ทำให้เลือดแข็งตัวช้าและออกมากขึ้นได้ เพียงแต่ว่าอย่าไปคิดว่าน้ำลายหยดเดียวจะทำให้เลือดออกหมดตัว การทดลองพบว่าระดับการทำงานของมันนั้นน้อยมาก ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักกับระบบการห้ามเลือดปกติ
มีหลาย ๆ ที่ใช้ยาที่ชื่อว่า tranexamic acid ที่เป็นตัวยับยั้งการสร้าง plasmin ...plasmin มันไปสลายลิ่มเลือด ยับยั้งพลาสมินคือยับยั้งการสลาย ลิ่มเลือดก็ไม่สลาย หยุดได้ดี... ที่ทำงานตรงข้ามกับ proactivator ในน้ำลาย ในการห้ามเลือดเวลาทำฟัน ผ่าตัดช่องปาก อุบัติเหตุ แต่ว่าผลการศึกษาโดยรวมไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจน มีทั้งเห็นควรด้วยและเห็นต่างก็ดี
แต่ปัจจุบันที่แนะนำให้ใช้อย่างระวัง ไม่ใช่ว่าไม่ได้ประโยชน์แต่เป็นเพราะมันการทำให้ลิ่มเลือดไม่สลาย เกิดภาวะลิ่มเลือดมากเกินจะเกิดอันตรายกับคนที่เสี่ยงหรือเพิ่งเป็นโรคลิ่มเลือดอุด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดสมองตีบ
แค่การห้ามเลือดปกติ การกด การใช้ความเย็น การเย็บแผล ก็สามารถหยุดได้ดี แม้ว่าน้ำบ่อน้อยจะละลายลิ่มเลือดได้บ้างก็ตาม ก็ไม่สามารถชนะกรรมวิธีห้ามเลือดมาตรฐานได้ ถ้าทำแล้วเลือดออกยังไม่หยุด อย่าไปคิดว่าน้ำลายเป็นเหตุ ให้ไปหาสาเหตุอื่น ๆ ด้วย
ยกเว้นคุณเป็นกระสือ ถึงอ้างได้ว่าน้ำลายเป็นเหตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม