28 พฤศจิกายน 2561

การลดความเสี่ยง



กริ๊งงง ... เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เป็นเบอร์แปลก ๆ ไม่ได้บรรจุไว้ในหน่วยความจำเครื่อง หลังจากคุยกันก็ได้ความว่า เพื่อนของผมคนหนึ่งตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ไม่รู้ไปค้นเบอร์ได้จากไหน โทรมาขอร้องและฝากให้ช่วยดูแลผู้มีพระคุณของเขาคนหนึ่งตอนนี้ต้องการไอซียู โอเค...ผมรับปาก พร้อมสินบนส้มตำถาดและต้มแซ่บเนื้อหนึ่งมื้อ
เมื่อไปพบผู้ป่วยก็ปรากฏว่ามีโรคหลอดเลือดสมองตีบ และสมองเริ่มบวมมากจนต้องได้รับการผ่าตัด การช่วยเหลือในภาวะวิกฤตได้ดำเนินไป จนตอนนี้พ้นภาวะวิกฤตแล้ว ปัญหาคือ เหตุใดจึงเกิด ผมก็ได้เชิญญาติคือสามีและลูกสาวมาให้ประวัติ ได้ฟังประวัติแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์กับทุกคน และอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจและเห็นอะไรบางอย่าง จึงขออนุญาตนำมาเล่าสรุปให้ฟัง และขอทวงส้มตำกับต้มเนื้อด้วยเพราะทราบดีว่าเจ้าเพื่อนตัวแสบนี้อ่านอยู่แน่นอน
ผู้ป่วยเป็นหญิงเหล็ก คือเป็นนักธุกิจหญิงแบบอาเจ๊ใหญ่ ลุยงาน คุมคนงานเอง ขับกระบะลุย โดยมีสามีคอยดูแลลูก ๆ และกิจการในบ้าน ลูกสาวเรียนจบก็มาช่วยงานที่บ้าน ดูแลกันพ่อแม่ลูก 
เมื่อห้าปีก่อน ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยความดันโลหิตสูง ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีอาการ ตรวจพบเพราะไปแวะบูธตรวจตามห้าง
ครับ เนื่องจากไม่มีอาการใด ๆ เธอก็ไม่ได้ใส่ใจรักษา สามีเธอบอกว่าตอนนั้น 160/90
สองปีผ่านไป เธอก็ยังอาการปรกติแต่ไปตรวจอีกครั้งเพราะลูกรบเร้า คราวนี้ไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง ได้รับยามากิน ผ่านไปหกเดือน ควบคุมระดับความดันได้ เธอรู้สึกว่าเธอบรรลุเป้าหมาย กินยาตลอดนะ แต่ไปซื้อยาเอง ขี้เกียจมาโรงพยาบาล ซื้อเครื่องวัดมาวัดเองด้วย ความดัน 130/80 
แต่...แต่...เธอตั้งเป้าแค่คุมความดันได้ครับ และความคิดของเธอคือต้องใช้ยา ตอนแรกวินิจฉัยหมอได้แจ้งว่า น้ำตาลเริ่มปริ่ม ๆ จะเกิน ไตเริ่มเสื่อม และน้ำหนักเกิน หมอแจกสมุดประจำตัวผู้ป่วยความดันและแนะนำการปฏิบัติตัวเบื้องต้น
เธอรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ วิธีที่จะทำได้ และเธอกินยาแล้วความดันก็ลงดี เธอบรรลุ KPI ของเธอแล้ว
สามปีที่ผ่านมา เธอกินยาตลอด แต่ไม่เคยลดเกลือ ไม่ลดน้ำหนัก ขาดการออกกำลังกาย ไม่ไปไปตามนัดเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเพิ่มเติม และแน่นอนไม่ได้แก้ไข วัตถุประสงค์ของเธอคือกินยาแล้วความดันลด และเธอทำได้ด้วย
สิ่งที่ผมตรวจพบคือ เธอเป็นเบาหวาน มีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะ ไตเสื่อมระดับสาม ค่า LDL 186 มีหลักฐานของหัวใจโต ดัชนีมวลกาย 30
ทำไมความดันก็คุมดีกินยาตลอดจึงเป็นหลอดเลือดสมองตีบ ??
ประเด็นคือ การควบคุมโรคเรื้อรังทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอชไอวี หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไตวาย เราไม่ได้ควบคุมแค่ตัวโรค ไม่ได้ควบคุมแค่ผลเลือด แต่ต้องป้องกันความเสี่ยงจากโรคในอนาคตด้วย 
แนวทางการรักษาและผลการศึกษาในปัจจุบันออกมาเป็นแนวทางเดียวกันว่าต้องควบคุมโรคในปัจจุบันให้ดีและต้องมองไปถึงอนาคต ลดความเสี่ยงและป้องกันผลแทรกซ้อน
ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ แม้จะใช้ยาลดความดันจนได้ตัวเลขอย่างที่ต้องการจริง แต่ความเสี่ยงอันอื่นที่มาพร้อมกันหรือเป็นผลข้างเคียงในระยะยาว ก็ต้องได้รับการดูแลและปรับลด ไม่อย่างนั้นถึงรักษาโรคความดันได้ดี โอกาสเกิดโรคแทรกมันก็ไม่ลดลงอย่างที่คิด เวลาที่สูญไปกว่าห้าปีเป็นต้นทุนที่แพงมากเลย
ท่านจะเห็นว่าการรักษาปัจจุบันจะมีการควบคุมความเสี่ยงโดยรอบ ปรับลดไปพร้อม ๆ กับโรคหลัก ทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์การรักษาได้ ท่านอาจจะต้องได้รับการประเมินไขมัน ถ้าสูงต้องปรับลด ประเมินโรคไต ถ้าเสี่ยงต้องให้การรักษาเพื่อชลอความเสี่ยงด้วย หรือการรักษารูมาตอยด์ที่ไม่ใช่แค่แก้ปวด แต่ต้องคุมการอักเสบให้อยู่ไม่อย่างนั้นข้อจะผิดรูปเกิดความพิการ 
แม้คุมอาการ คุมตัวเลข คุมผลเลือดได้ ไม่ได้หมายความถึงบรรลุเป้าหมายแล้วนะครับ
ปัจจุบันมีนักวางแผนการเงินและภาษี อนาคตอาจมีอาชีพนักวางแผนสุขภาพและจัดการความเสี่ยงก็ได้ น่าสนใจดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม