09 ตุลาคม 2560

แมงป่อง

ฤดูฝน ฝนตกน้ำท่วมมีอีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่อยากพบเจอ แมงป่อง

  แมงป่องในโลกนี้มีมากกว่า 1500 สายพันธุ์แต่มีเพียงประมาณ 30 สายพันธุ์เท่านั้นที่อันตรายต่อมนุษย์ โดยทั่วไปแมงป่องเป็นสัตว์ที่ไม่ทำร้ายใครก่อน รักสงบ ขี้อาย จะต่อยเมื่อมีภัยเท่านั้น ต่อมพิษของแมงป่องจะอยู่ที่ส่วนท้ายของร่างกาย ต่อท่อไปยังปลายหางที่เป็นที่อยู่ของเข็มพิษนั่นเอง
  แมงป่องสามารถควบคุมได้ว่าการต่อยครั้งใดจะต่อยเฉยๆ หรือการต่อยครั้งใดจะหวังผลสังหาร นั่นคือการถูกต่อยทุกครั้งอาจไม่ได้เกิดพิษทุกครั้ง ความน่าจะเป็นของการเกิดพิษ ความรุนแรงจะอยู่ที่ปลายหาง ถ้าหากปลายหางขนาดใหญ่ (ซึ่งส่วนมากตัวจะเล็ก) มักจะพิษร้าย แต่พวกตัวโตๆมักจะหางเล็ก (อ่านดีๆ อย่าอ่านผิด) พิษไม่รุนแรง

   แมงป่องพิษรุนแรงส่วนมากจะมีถิ่นที่อยู่แถวแอฟริกากลางลงมาทางใต้ และแถบทะเลทรายในทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศไทยอุบัติการณ์ไม่ชัดเจนนัก บอกยาก หรือแม้แต่ทั่วโลกก็รายงานน้อย ทำให้เรามีมาตรการการรักษาหรือการศึกษาน้อยมาก
   ส่วนใหญ่ของการถูกต่อยมักจะไม่เกิดพิษทั้งตัว มักจะเกิดอาการปวด บวมบริเวณที่ถูกต่อยจากพิษของ proteolytic enzyme เราเพียงแต่ประคบเย็น ใช้ยาแก้ปวด ลดการอักเสบและยาชาเฉพาะที่ ก็อาการดีขึ้นเมื่อพิษถูกร่างกายทำลายไป (ไม่ควรใช้ morphine หรืออนุพันธุ์ของมอร์ฟีนในการลดปวด)

  แต่พิษที่รุนแรงและจะเกิดทั้งระบบได้คือ พิษต่อระบบประสาท  พิษที่รุนแรงของแมงป่องนั้นเป็นพิษที่มีหลายกลไก แต่ละสายพันธุ์หรือการต่อยแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลยจึงไม่มีสูตรสำเร็จในการรักษา พิษต่อระบบประสาทที่สำคัญคือ จะไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายให้ทำงานเกินปรกติจนเป็นอันตราย

   การกระตุ้นระบบประสาท adrenergic ก็จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หลอดเลือดหดเกร็งทั่วตัว ความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด ปัสสาวะไม่ออก น้ำตาลสูง ไข้ขึ้น นี่ก็เป็นสาเหตุที่ไม่แนะนำให้ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนเพราะไปทำให้ระบบประสาทอัตโนมัตินี้รุนแรงขึ้น (norepinephrine reuptake inhibitor)
   การแก้ไข ก็จะใช้ยาขยายหลอดเลือดคือ prazocin หรือ hydralazine ถ้าหัวใจวายอาจต้องใช้ dobutamine ช่วยในการรักษา

   การกระตุ้นระบบประสาท parasympathetic ผ่านทางตัวกระตุ้น cholinergic ก็เกิดเช่นกัน เรียกว่ากระตุ้นทั้งสองระบบที่ทำงานตรงข้ามกัน คือทำลายสมดุลโดยสิ้นเชิง มีสารคัดหลั่งมากมายออกมาจากร่างกาย น้ำลาย เสมหะ จนหายใจไม่ได้ หลอดลมบีบแคบ เหงื่อมหาศาล และหัวใจเต้นช้า  ในกรณีที่เกิดพร้อมๆกันนี้ แยกยากมากๆ  
   แต่ว่าการรักษาไม่ได้แนะนำใช้ยา atropine เพราะมันจะทำให้ระบบประสาทอีกระบบทำงานมากเกินจนเป็นอันตราย 

   การกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมอง เกิดการกระตุ้นกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง ตากระตุก หรือชัก และเชื่อว่าอาจมีความเสียหายจากสมองเนื่องจากหลอดเลือดตีบแคบ  การรักษาก็จะใส่ยาที่มีฤทธิ์ลดการกระตุ้น คือ GABA  receptor คือทยากลุ่มยากันชัก benzodiazepines นั่นเอง เช่น diazepam lorazepam 

    และประคับประคองอาการ ดูแลสัญญาณชีพ การติดเชื้อ สารน้ำในร่างกาย ลดการอักเสบ รอให้ร่างกายฟื้นสภาพและกำจัดพิษออกไป ปัจจุบันมีการใช้ antibody เพื่อไปจับทำลายพิษไม่ให้พิษเกิดอันตราย แต่ว่าขนาดของการศึกษายังไม่มาก ผลการศึกษาก็ยังไม่ดี เพราะต้องให้เร็ว หากให้ช้าไปนั้นอาจไม่มีประโยชน์เพิ่มเติม

ที่มา
Drug Des Devel Ther. 2012; 6: 165–173.
Acta Trop. 2008;107(2):71–79.


Int J Cardiol. 2012;158(2):292–293.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม