24 ตุลาคม 2560

ผลงานวิจัยยืนยันภาวะไทรอยด์เป็นพิษสัมพันธ์ชัดเจนกับกระดูกหัก

ผลงานวิจัยยืนยันภาวะไทรอยด์เป็นพิษสัมพันธ์ชัดเจนกับกระดูกหัก
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ แบบที่มีอาการหรือฮอร์โมนไทรอยด์เกิน อันนี้เป็นที่ทราบดีว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดกระดูกบาง กระดูกพรุน และกระดูกหัก รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุอันเป็นส่วนประกอบของกระดูก จากการไปกระตุ้นเซลที่ชื่อว่า osteoclast ให้ทำงานมาก และไปเปลี่ยนการทำงานของเซล osteoblast การไปทำให้สมดุลนี้เปลี่ยนทำให้กระดูกพรุนมากขึ้น และยังมีสารต่างๆที่ถูกเปลี่ยนอีกมากมาย เช่น fibroblast growth factor 23
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ จึงต้องพิจารณา เรื่องกระดูกพรุนและความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักเอาไว้ด้วย แม้ว่าอาการทางกระดูกจะไม่ใช่อาการหลักของไทรอยด์เป็นพิษก็ตาม
ยังมีอีกหนึ่งภาวะที่เรียกว่า subclinical hyperthyroidism คือ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในตัวไม่สูง อาการก็ไม่มี แต่เมื่อไปตรวจเลือดพบฮอร์โมน TSH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้กระตุ้นการสร้างไทรอยด์ต่ำลง TSH หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองจะหลั่งออกมามากเวลาไทรอยด์ต่ำ และจะหลั่งออกมาน้อยหากไทรอยด์เกิน มีสาเหตุได้หลายอย่างนะครับ ไม่ได้หยิบมาพูดตรงนี้
แต่นี่ก็สัมพันธ์กับการเกิดกระดูกหักเช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่มีภาวะนี้เกิดขึ้น ผู้ป่วย..จะเรียกผู้ป่วยคงยากเพราะไม่ป่วย จะต้องได้รับการประเมินเรื่องกระดูกพรุนและความเสี่ยงการล้ม หากพบว่าสูงก็ควรรักษา
การศึกษายืนยันนี้ลงในวารสาร JAMA 26 พฤษภาคม 2558 ทำการรวบรวมการศึกษาที่ทดสอบติดตามคนปรกติที่มาเจาะเลือดพบ TSH ต่ำ โดยที่ไทรอยด์ปกติ ไม่ได้ใช้ยาใดที่จะมารบกวนผลไทรอยด์ เก็บข้อมูลจากอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย(เอเชียน้อยมากที่สุด)
โดยเฉลี่ยก็อายุประมาณ 60 ปี และติดตามประมาณ 10 ปี (กลุ่มนี้ก็เสี่ยงอยู่แล้วนะครับ) ใน 13 การศึกษา 70,000 กว่าคน พบว่ากลุ่มที่เป็น subclinical hyperthyroidism นี้มี 3.2 % ของที่เจาะเลือด และเมื่อติดตามไปพบว่าพบกระดูกหัก ทั้งกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกอื่นๆที่ไม่ใช่สันหลัง และภาพรวมการหักทั้งหมด ไปในทิศทางเดียวกันคือถ้าเป็น subclinical hyperthyroidism มีอัตรากระดูกหักมากกว่าภาวะปรกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (HR 1.28 95%CI 1.06-1.53)
ไม่ว่าเพศหรืออายุใด จัดกลุ่ม ตัดตัวแปรอย่างไร ก็ได้แบบเดียวกันครับ เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่แค่ไทรอยด์เป็นพิษเท่านั้นที่เสี่ยงกระดูกพรุน แต่ไทรอยด์เป็นพิษแบบไม่มีอาการมีแต่ผลเลือด ก็เสี่ยงเช่นกัน ควรได้รับการประเมินกระดูกพรุนและรักษาป้องกัน เนื่องจากภาวะ subclinical เราไม่ได้ให้ยาต้านไทรอยด์ เราก็มาพิจารณาการรักษาและป้องกันกระดูกพรุนตามปรกตินั่นเองครับ
แค่อย่าลืมว่า...ต้องประเมิน...
เจาะเลือดแล้วใช้ให้คุ้มค่าครับ เจาะเมื่อจำเป็นและได้ผลแล้วต้องแปลให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม