แจกแนวทางการรักษาฟรี การใช้ยากันเลือดแข็งและต้านเกล็ดเลือดเวลาส่องกล้องทางเดินอาหาร
วิชาการก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ยาถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Blood Thinner
วิชาการก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ยาถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Blood Thinner
คนไข้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด antiplatelet มากขึ้น โดยมีแอสไพรินเป็นหลัก บางคนได้รับยากลุ่ม P2Y12 inhibitor คือ clopidogrel, prasugrel, ticagrelor หรือบางคนกินคู่กันเลยโดยเฉพาะคนที่เพิ่งได้รับการใส่ขดลวดค้ำยันในการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ
คนไข้ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) อันนี้มากขึ้นกว่าอดีตมากๆ จากการพัฒนายา พัฒนาเครื่องตรวจติดตามและการศึกษาว่าสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาตและหลอดเลือดอุดตันได้มากมาย ซึ่งมีทั้งยากลุ่มเก่า คือ warfarin ที่ต้องติดตามวัดระดับการแข็งตัวของเลือดบ่อยๆ หรือยากลุ่มใหม่ non vitamin K anticoagulants ที่ไม่ต้องติดตามผลเลือด
คำถาม ถ้าใช้ยาอยู่ จะไปส่องกล้องทางเดินอาหารทำอย่างไร ต้องหยุดยาไหม หยุดนานแค่ไหน หยุดแล้วเมื่อไรจะเริ่ม จะอันตรายจากเลือดออกหรืออันตรายจากเลือดแข็งมากกว่ากัน
คำตอบเรื่องนี้ตั้งอยู่บนปรัชญาสองอย่าง หนึ่ง การส่องกล้องนั้นเสื่ยงเลือดออกสูงหรือไม่ กลุ่มเสี่ยงน้อยเช่น ส่องดูเพื่อวินิจฉัย ส่องไปวางอุปกรณ์ค้ำยัน ไม่ต้องมีการตัดหรือจิ้มให้เลือดออก แต่ถ้าต้องตัดติ่งเนื้อ ตัดชิ้นเนื้อ ถ่างขยายรูแคบ หรือเพื่อการรักษา โดยเฉพาะ mucosal resection อันนี้เสี่ยงมากเลย
ปรัชญาข้อสองคือ ภาวะของคนไข้ที่ต้องกิน blood thinner มันเสี่ยงเลือดตันมากไหม กลุ่มเสี่ยงมากคือ กลุ่มที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียมที่ตำแหน่งไมตรัล ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบร่วมกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือพวกที่เพิ่งใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจมาใหม่ๆ มีลิ่มเลือดในหัวใจ พวกนี้เสี่ยงสูงมาก การจะไปหยุดยาอาจต้องประเมินความเสี่ยงและมีวิธีรองรับ
สิ่งที่หมอต้องรู้ ผมทำลิงค์มาให้แล้ว อ่านง่าย มีแผนภูมิชัดเจน คำบรรยายและที่มา รวมทั้งระดับคำแนะนำ (จะบอกว่าส่วนมากเป็น low grade evidence มีไม่กี่ข้อที่ strong) ผมว่าง่ายและใช้ได้จริง มาจาก British Society of Gastroenterology (BSG) and European Society of Gastrointestinal Endoscopy (ESGE) guidelines ไม่ต้องอ่านเกือบห้าสิบหน้าเหมือนฝั่งอเมริกา
สิ่งที่คนไข้ต้องรู้ เรากินยาอะไร เพื่อรักษาหรือป้องกันอะไร นานแค่ไหนแล้ว บอกสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้ไม่อันตราย ผมเคยได้รับปรึกษาด่วนก่อนลงมีดผ่าตัด ว่าคนไข้กินยาชนิดนี้ ...new oral anticoagulant ยาใหม่ ไม่ต้องตรวจติดตามผลเลือด คนไข้เพิ่งเอามาให้ดู
และเมื่อหมอรู้ คนไข้รู้ ปรึกษาร่วมกัน ความเสี่ยงเลือดออก ความเสี่ยงเลือดตัน เตรียมตัวให้เหมาะ อย่างนี้ ไม่ใช่รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่เป็นร่วมกันรักษาร้อยครั้ง ไม่มีปัญหาเลยสักครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น