16 ตุลาคม 2560

การวินิจฉัยโดยใช้ผลเลือด

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพจเราเขียนมาช้านาน เรื่องการวินิจฉัยโดยใช้ผลเลือด
เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ (คิดว่าขอบตาคงไม่คล้ำทุกคน) ได้ช่วยเหลือการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางคลินิกอย่างมากมายด้วยการตรวจปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อหรือตรวจหาชีวโมเลกุลของตัวเชื้อ ที่เรียกว่า serologic test โดยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการหรือคุณหมอด้านพยาธิวิทยาคลินิกจะบอกเสมอว่า "please clinical correlation" กรุณาแปลผลโดยใช้อาการทางคลินิกร่วมด้วย
ปัญหาหลักของการส่งไว...ผลด่วน..แปลเร็ว คือ มันอาจผิดพลาดได้นะครับ ถ้าใช้ไม่เป็น กระบี่อันแหลมคม ถ้าหากไปอยู่ในมือ(เท่าแง่งขิง)ของอีเจี๊ยบ ก็เหมือนถือไม้ตีพริก
ตัวอย่างที่ผมได้ฟังมาและอยากจะบอกทุกคนคือ การตรวจทุกชนิดมันมีข้อจำกัด มีผลบวกจริงบวกปลอม ลบจริงลบปลอม มีการข้ามปฏิกิริยาได้ ผลบวกหรือลบไม่ได้แปลตรงตัวเสมอไป จะต้องแปลด้วยสติเสมอ
เช่น ผู้ป่วยมีไข้สูงสองวัน ปวดเมื่อยปวดตามตัว มีผื่นขึ้นจางๆ ไม่มีอาการใดๆเฉพาะเจาะจง เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงฤดูฝน ไข้เลือดออกกำลังระบาด ตรวจหาแอนติบอดีของไข้เดงกี่ที่เรียกว่า RAPID DENGUE TEST ผลเป็นบวก ถ้าเราไม่เผื่อใจว่าอาจจะเป็นโรคอื่นหรือไม่ทราบข้อจำกัดของการทดสอบ ผู้ป่วยก็จะได้รับการวินิจฉัย ไข้เลือดออก
ทั้งๆที่ antibody คือ ภูมิคุ้มกันของเราเองต่อเชื้อไวรัส ที่อาจจะได้ผลบวกในไวรัสตระกูลเดียวกับไข้เลือดออกได้ เช่นไวรัสซิก้า หรือ ไวรัสชิคุนกุนย่า เรียกว่าถ้าบวกล่ะก็เป็นเดงกี่ได้ โรคอื่นก็ได้ แต่ถ้าเป็นลบ โอกาสเป็นเดงกี่ก็น้อยมาก
เรียกว่ามีปฏิกิริยาข้ามไปกับไวรัสตระกูลเดียวกัน สายพันธุ์อื่นที่เรียกว่า cross reactivity ได้
แต่เราไม่คุ้นเคยกับโรคซิกาและชิคุนกุนย่า เราก็ไม่คิดถึง ไม่ตรวจ ... หรือไม่ได้ติดตามต่อว่าอาการของโรคจะไปทางไข้เลือดออกหรือไข้อื่นๆ เราก็จะพลาดโรคอื่นๆไปได้ นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราไม่ค่อยพบไข้ซิกาในเมืองไทย ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่า ไม่ได้ค้นหาต่างหากครับ
การตรวจวินิจฉัยโรคเราจะต้องคิดไว้ก่อนว่าเป็นอะไร และติดตามอาการ คิดเสมอว่าส่งตรวจแล้ว ถ้าบวกจะแปลอย่างไร ผิดพลาดได้จากอะไร ถ้าลบเชื่อได้แค่ไหน และจะต้องทำการทดสอบก่อนหรือไม่ ก่อนจะไปบอกว่าห้องแล็บไม่แม่น เทสต์ผิด เราต้องมาดูการแปลผลก่อนว่าเรา "ใช้เป็น" หรือไม่
อย่างในกรณีนี้ การส่งตรวจหาสารพันธุกรรมคือ RNA จะบอกได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสกลุ่ม Flavivirus ตัวใดกันแน่ แต่ถามจริงๆ ทำได้ทุกที่หรือไม่ หรือทำแล้วเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยแค่ไหน แต่ถ้ามีผลมากๆก็ควรทำนะครับ ตัวอย่างที่อยู่ในการบรรยาย คือ หญิงตั้งครรภ์ ไข้สูงสี่วัน ผื่นจางๆ ผลเลือดออกมาว่า NS1 antigen (ตรวจหาชิ้นส่วนของไวรัสเดงกี่) ผลไม่พบ แต่กลับตรวจพบแอนติบอดีของเดงกี่ ...อ้าว ไม่ตรงไปตรงมาล่ะ แถมถ้าคนท้องเป็นไวรัสซิก้าที่เกิดปฏิกิริยาข้ามได้ จะเกิดอันตรายต่อเด็กได้ (มีโอกาสนะ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดทุกคน)
ถ้าเราไม่คิดไว้ก่อน เจอแอนติบอดีของเดงกี่ผลบวก เอาละอย่างไรก็ไข้เลือดออกเดงกี่ ก็เรียกว่าตกหลุมพรางความรู้และความเชื่อมั่นของตัวเองได้ การวินิจฉัยโดยใช้เทสต์ทางอ้อม อาจจะสะดวกประหยัดเวลา แต่ต้องรู้ข้อจำกัดการแปลผลด้วย
ส่วนการตรวจหาเชื้อตรงๆ ไม่ว่าเพาะเชื้อ ตรวจจับชิ้นส่วนของเชื้อ หาสารพันธุกรรม (แยกไม่ได้นะครับว่าเป็นซากเชื้อตายแล้ว หรือเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่) มีความจำเพาะสูงมาก แต่ว่าไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่เป็น
แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสีย ที่คิดมาด้วยศาสตร์ แต่จะเลือกใช้วิธีใดมันคือศิลปะการเลือกเช่นกัน และก่อนจะบอกคนไข้ ก็ต้องไตร่ตรองเหตุผลก่อน แม้แต่คนไข้เอง ห้ามใช้ผลนั่นบวกนี่ลบ เอาไปแปลผลตรงๆตัวเด็ดขาด ย้ำครั้งที่สี่สิบสี่ (ต้องย้ำสี่สิบสี่จึงจะมีอำนาจพอ) ว่าใช้ประกอบกับการวินิจฉัยทางคลินิกเท่านั้น
และขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ นักเทคนิคการแพทย์ทุกท่าน ที่ช่วยพวกเราในการวินิจฉัยตลอดมา อยากจะบอกว่าพวกเราเข้าใจพวกคุณดี และพยายามทำให้ช่องว่างตรงนี้มันหายไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม