07 ตุลาคม 2560

ความจริงขาเดียว กลับกันไม่จริง

ความจริงขาเดียว กลับกันไม่จริง
1. ปวดหัวมากทำให้ความดันโลหิตสูง แต่ความดันโลหิตสูงไม่ทำให้ปวดหัว
ตัวความดันโลหิตจะไม่มีอาการ ถ้ามีอาการปวดหัวมักจะเกิดจาก ผลระยะยาวของความดันโลหิตสูงเช่น เลือดออกในสมอง หรือความดันในกระโหลกสูงมากๆทำให้ปวดหัวและความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงอย่างเดียวที่ทำให้ปวดหัวรุนแรงนั้น น้อยมากๆครับ
2. โรคเก๊าต์มักพบยูริกในเลือดสูง แต่กรดยูริกในเลือดสูงไม่ใช่เก๊าต์เสมอไป
หลายๆครั้งที่ไปพบระดับกรดยูริกในเลือดสูง แล้วถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าต์โดยไม่มีอาการ ไม่ได้ตรวจน้ำไขข้อ และบางรายยังได้รับยาลดกรดยูริกโดยไม่จำเป็น ที่ร้ายคือ บางคนแพ้ยา allopurinol รุนแรงจนพิการ หรือเสียชีวิต
โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้การกินยาเลย
3. โรคมะเร็งมักจะมีสารบ่งชี้มะเร็งขึ้น แต่การที่มีสารบ่งชี้มะเร็งขึ้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็ง
การวินิจฉัยมะเร็งเกือบทั้งหมดต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อและการตรวจทางพันธุกรรม ในขณะที่สารบ่งชี้มะเร็งออกแบบมาเพื่อติดตามการเกิดซ้ำหลังการรักษา ไม่สามารถใช้แทนกันได้ ไม่สามารถคัดกรองหรือวินิจฉัยได้เลย
ไม่มีทางลัดในการวินิจฉัยโรค
4. ผู้ป่วยลมชักส่วนมากจะมีกระตุกหรือเกร็งให้เห็น แต่ถ้าไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าไม่เป็น
ภาวะชักบางอย่างอาจเป็นในหลักวินาทีแค่วูบหมดสติ หรือเป็นการชักแบบไม่กระตุก การชักแบบพฤติกรรม "กระตุก" แทนกล้ามเนื้อ หรือในผู้ป่วยโคม่านิ่งๆ เขาอาจชักก็ได้ ดังนั้นภาวะใดก็ตามที่อาจจะเป็นลมชัก การไม่เห็นกระตุก ไม่ได้บอกว่า ไม่เป็น
5. การมีผื่นคันขึ้นหลังจากกินยามักจะแพ้ยา แต่การไม่มีผื่นขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่แพ้ยา
ยาหลายชนิดก็มีการแพ้ที่แตกต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องมีผื่น แต่ต้องเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่คาดเดาไม่ได้จากการออกฤทธิ์ของยา เช่น อาการตัวเหลืองในการกินยาวัณโรค ไข้ขึ้นสูงหลังจากใช้ยา
ปฏิกิริยาแพ้ยามีถึง 4 ประเภทใหญ่ การแพ้ยาต้องคิดไว้เสมอหากมีการใช้ยา
6. คนที่ไม่มีโรคหัวใจส่วนใหญ่คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าคลื่นไฟฟ้าปกติจะไม่เป็นโรคหัวใจ
หลายครั้งที่ไปตรวจสุขภาพแล้วคลื่นไฟฟ้าปกติ หรือตรวจก่อนการผ่าตัดแล้วปกติ แต่กลับเป็นโรค ฟังเสียงหัวใจผิดปกติ ลิ้นรั่ว บีบตัวบกพร่อง เพราะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มันคือกระแสไฟฟ้า ไม่ได้แสดงทุกสิ่งทุกอย่างออกมา แถมตรวจแค่ไม่ถึง 15 วินาที
กรุณาอย่าใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติบอกว่าไม่มีโรค
วิชาทางการแพทย์ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเป็นวิธีวิเศษ บอกได้ทุกอย่าง แม้แต่การตรวจลักษณะเดียวกันก็แปลความต่างกันได้ ความจริงตรงนี้คือ
ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆก็ตาม หรือไม่เป็นโรคก็ตาม ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติที่เกี่ยวข้องสำคัญที่สุด ตามมาด้วยการตรวจร่างกายที่ครบถ้วนเพื่อยืนยันสิ่งที่คิด หลังจากนั้นจึงเลือกวิธีการตรวจพิเศษที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อช่วยวินิจฉัย ตรวจมากไปก็สับสน ตรวจน้อยไปก็ขาด ที่แย่คือ ตรวจไม่ถูกวิธี ได้ข้อมูลผิดๆไปแปลผิด
การมีสติ คิดพิจารณาอย่างที่เป็น ผสมผสานข้อมูลทุกอย่าง คือการวินิจฉัยที่ดีที่สุดในทางอายุรศาสตร์ สิ่งที่เป็นจริงมาตั้งแต่ปรมาจารย์ยุคแรกเริ่ม มาจนถึงปัจจุบันเป็นวิธีที่ดีที่สุด คลาสสิก แม่นยำ และราคาไม่แพงด้วย
ใครมีความจริงแบบนี้ เสริมมาได้นะครับ ผมยกตัวอย่างพอให้เกิดไอเดียเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม