03 พฤษภาคม 2559

โรคติดเชื้อ เมลิออยโดสิส

โรคติดเชื้อ เมลิออยโดสิส

มีไผอยู่อีสานบ้านเฮาบ่...ภาคอีสานของประเทศ ภาคที่มีปริมาณผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากที่สุด ประชากรมากสุด และ พบโรคนี้มากที่สุดเช่นกัน คือ โรคติดเชื้อ เมลิออยโดสิส (melioidosis)

เชื้อเมลิออยโดสิสนี้ อยู่ในดินในน้ำ ตายยาก สามารถอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมแย่ๆถึงหกเดือน สามารถติดกันได้ทางฟุ้งกระจายเข้าปอด ปนเปื้อนในทางเดินอาหาร เข้าทางแผล ทำให้เกิดโรคได้หลากหลายแบบ หลายหลายอาการ เลียนแบบโรคต่างๆได้ ดังนั้นในคนที่อยู่ภาคอีสานหรือเดินทางมาสัมผัสดินน้ำที่อีสาน แล้วป่วยเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการและอาการแสดงหลากหลายคล้ายๆหลายโรค ทั้งหมอและคนไข้ต้องคิดว่าติดเชื้อเมลิออยโดสิสด้วยนะครับ
เชื้อนี้พบมากที่อาเซียนเราและฝั่งเหนือของออสเตรเลีย รายงานล่าสุดพบว่ามีการยืนยันการติดเชื้ออย่างน้อย 2000 รายต่อปีในเมืองไทย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตร้อยละ40 นี่ยังไม่นับเพาะเชื้อไม่ขึ้น ไม่ได้มาหาหมอ เสียชีวิตแต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคนี้ ก่อนหน้านี้เกิดที่ไทยและออสเตรเลียนี่แหละครับ จนเมื่อการคมนาคมสะดวกมีการขนถ่ายสินค้าและปศุสัตว์จึงเกิดการระบาดไปที่อื่น 1975 ที่ปารีส ล่าสุด 2014 ที่หลุยเซียน่า อเมริกาซึ่งเขาสอบสวนว่าน่าจะมาจากหนู เชื้อจากหนูไปปนเปื้อนในเสื้อผ้า คือมันติดมากับดิน ฝุ่น ผง ที่มากับสัตว์นะครับ

หลายท่านก็คงแย้ง..โหย..หมอ อีสานนี่ 40%ประชากรเลยนะ ไม่ต้องรักษาโรคนี้หมดเลยหรือ ก็คงไม่โชคร้ายอย่างนั้นนะครับ ไม่งั้นไปงานสงกรานต์ถนนข้าวเหนียว หรือบั้งไฟพญานาค คงแย่กันหมด โรคนี้มักจะเกิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงคือ โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ดื่มเหล้ามากๆ ตับแข็ง และมักจะมีอาชีพเกษตรกรครับ โอกาสปนเปื้อนจึงจะมากหน่อย แต่คนธรรมดาแข็งแรงดีก็เป็นได้ ดังนั้นประวัติอาชีพ ถิ่นที่ทำกิน สัมผัสดินน้ำ จะมีประโยชน์ครับ
โรคนี้มีอาการได้ตั้งแต่ ติดเชื้อเร็วลุกลามในกระแสเลือดจนช็อก ติดเชื้อหลายๆที่ ฝีหลายๆจุด ไข้เรื้อรัง และสามารถติดได้หลายๆอวัยวะ แต่ที่พบมากสุดคือที่ปอด ซึ่งอาการและฟิล์มปอดจะคล้ายวัณโรคเอามากๆ เรียกว่าถ้าคิดถึงโรควัณโรคก็ต้องคิดถึงโรคนี้ตามกันเสมอ คงต้องเพาะเชื้อเสมหะแยกออกจากกัน นอกจากนี้ ฝีที่ตับและม้ามก็เป็นอีกหนึ่งแบบที่พบบ่อย ลักษณะจะเป็นพรุนๆ มีรูปแบบจากอัลตร้าซาวนด์ที่ชัดเจน (swiss cheese, และ cartwheel ให้ไปอ่านเอานะครับผมแนบเอกสารมาให้ตอนท้าย) หรืออาจเพาะเชื้อขึ้นในกระแสเลือดอย่างเดียว

แต่การตรวจที่ต้องระวังคือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรค คือการวินิจฉัยโรคติดเชื้อเราอาจดูว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคใดขึ้นมามาก ก็สันนิษฐานว่าน่าจะติดเชื้อนั้นๆ ในการวินิจฉัยเมลิออยโดสิสนั้นถ้าใช้ผลตัวนี้อย่างเดียวอาจพลาดได้ครับ เพราะคนที่อยู่อีสานมักจะสัมผัสเชื้อตัวนี้อยู่แล้ว ดังนั้นอาจเจอภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้อยู่แล้ว คงต้องใช้ระดับภูมิสูงๆ หรือติดตามว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ในการวินิจฉัย หมอเองต้องระวังนะครับ ตรวจคนอีสานกับคนใต้ อาจพบตัวเลขพื้นฐานที่ต่างกันเลย คนไข้เองก็ต้องบอกด้วยนะครับว่า สูเจ้าบ้านอยู่หม่องใด๋ และถ้าหมอรักษากันแล้ว อย่าลืมคุยกับคนไข้ด้วยว่ารักษาโรคนี้เนื่องจากหลักฐานใด เพาะเชื้อ ภูมิขึ้นหรืออย่างใด เผื่อเป็นซ้ำจะได้ทราบข้อมูลการรักษาครั้งก่อน

การรักษา ยาที่ดีที่สุด มีการศึกษามากสุด เชื่อได้มากสุดคงจากเมืองไทยเรา คือให้ยา ceftazidime ทางหลอดเลือด 1-3 สัปดาห์จนอาการดีจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยากิน มีการศึกษาบอกว่าอาจใช้ร่วมกับยา co-trimoxazole ด้วย และเมื่ออาการดีแล้ว ต้องกินยาต่ออีกอย่างน้อย 20 สัปดาห์นะครับ เพราะเชื้อมันตายยาก ยาที่ใช้คือ doxycycline และ co-trimoxazole กินห้าเดือน อันนี้สำคัญนะครับ จะได้ไม่เป็นซ้ำและไม่กระจายเชื้อไปหาคนอื่น ส่วนถ้าแพ้ยาก็อาจเลือกใช้ imipenem ถ้าแพ้ซัลฟา อาจเลือกใช้ amoxicillin/clavuronic หรือ ciprofloxacin+azithromycin แต่ผลการรักษาจะไม่ดีเท่ากลุ่มแรกๆครับ

โรคนี้มีงานวิจัยและศึกษาในประเทศไทยมากมาย และเชื่อได้ดี วารสารอ้างอิงที่ผมอ่าน เป็นของคนไทย ในเวทีโลก น่าภูมิใจครับ น้องๆเพื่อนๆพี่ๆแพทย์ ไปอ่านเพิ่มได้นะครับ

- Predicted global distribution of Burkholderia pseudomallei and burden of Melioidosis, พิมพ์ใน Nature Microbiology มกราคม 2016
- โรคเมลิออยโดสิส ของ อ.ศิริลักษณ์ อนันต์ณัฐศิริ มข.
- review article : melioidosis ใน new england journal , september 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม