ในอดีต ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาท่านอาจเคยได้ยินคำว่า "ไตวาย ตายไว" ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นนะครับ เพราะว่าเกณฑ์ที่จะบอกว่าไตวายเรื้อรังนั้น มันค่อนข้างสายเกินไปเมื่อพบไตวาย ก็หมดทางเยียวยา ปัจจุบันเราจึงมีการพัฒนาการจัดกลุ่มผู้ป่วยไตวายใหม่ เพื่อให้ทราบได้เร็วขึ้น จัดการตามความเสี่ยงต่างๆได้ดีขึ้น มีหนทางการชะลอความเสื่อม เพื่อเกิดคำพูดใหม่ "ไตเสื่อม อยู่ได้ ตายช้า หาความสุขในชีวิต"
เกณฑ์ที่จะบอกว่าไตเสื่อม (เราใช้ศัพท์นี้แทนไตวายนะครับ) คือมีการเสื่อมถอยของหน้าที่การทำงานของไตมามากกว่า 3เดือน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของเรา ระยะเวลาต้องสามเดือนนะครับ ไตวายเฉียบพลันบางอย่างก็ใช้เวลาหายเกือบสามเดือน แล้วหน้าที่การทำงานที่เสื่อมถอยลงนี้ เราวัดกันสองอย่างครับ อย่างแรก เราใช้ค่าการกรองของไต (ไตมีหน้าที่กรองของเสีย วัดอัตรากรองมันเลย) แทนค่า ครีอะตินีน(creatinine) ซึ่งความแม่นยำสูงขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันแนะนำใช้สูตรคำนวณ 2009 CKD-EPI equation ใช้เพศ เชื้อชาติ มาคิดด้วย จริงๆมีสูตรที่ละเอียดกว่านี้แต่เราใช้ในงานวิจัยมากกว่า โดยปกติแล็บมักจะคำนวณให้ท่านอยู่แล้ว โดยใช้คำว่า estimated GFR หรือ eGFR วัดออกมาเป็นค่าการกรองของไต---ลองดูสูตรซิ กดเครื่องดีกว่านะ
***2009 CKD-EPI creatinine equation: 141 min(SCr/k, 1)a max(SCr/k, 1)1.209 0.993Age [ 1.018 if female] [ 1.159 if black], where SCr is serum creatinine (in mg/dl), k is 0.7 for females and 0.9 for males, a is 0.329 for females and 0.411 for males, min is the minimum of SCr/k or 1, and max is the maximum of SCr/k or 1. 2012 CK***
เพลีย--ช่างมันเนอะ ให้ห้องแล็บช่วยแล้วกัน---
เราก็แบ่งเกณฑ์ความเสื่อมตามค่าการกรองนี่แหละครับ กรองน้อยลงก็ G1 น้อยลงไปอีกก็ G2 ไล่ไปเรื่อยๆถึง G5 เกณฑ์ที่จะบอกว่าไตเสื่อมแล้วนั้นอยู่ที่ G3 หรือค่าการกรองต่ำกว่า 60 ครับ เราต้องเริ่มทำอะไรแล้ว อดีตนั้นถือค่าการกรองน้อยกว่า 15 ซึ่งสายเกินไป อันนี้คือเกณฑ์แรกนะครับ เกณฑ์ที่สองต้องมีหลักฐานการทำงานที่แย่ลงด้วยต่อเนื่องในช่วงสามเดือน ไม่ว่าจะเป็นจากภาพอัลตร้าซาวนด์ จากการเจาะชิ้นเนื้อไต จากการดูสารตะกอนในปัสสาวะ แต่ที่ง่ายและนิยมใช้คือ ค่าอัลบูมินที่ออกมาในปัสสาวะครับ
ปกติอัลบูมินจะไม่หลุดออกมาในปัสสาวะครับหรือหลุดน้อยมาก ถ้าหลุดจากเลือดออกมาได้แสดงว่าเสื่อม(เอาอย่างนี้ละกัน) เวลาวัดง่ายๆในปัจจุบัน เราจะส่งปัสสาวะตรวจ urine albumin creatinine ratio (UACR) เป็นหลักนะครับ ง่ายสะดวก ทำได้หลายที่ และไม่แนะนำใช้ค่า microalbuminuria อีกต่อไป เมื่อได้ค่า UACR มาแล้วก็ใช้ประกอบการวินิจฉัยไตเสื่อมเรื้อรัง และร่วมกับ eGFR ใช้พยากรณ์โรคได้ครับ ปกติเราก็รับได้ที่ค่าไม่เกิน 30 เสื่อมๆก็อยู่ที่ 30-300 เสื่อมจนต้องระมัดระวังคือมากกว่า 300 ครับ ในบางที่อาจใช้ค่า urine protein creatinine ratio แทนก็ได้แต่ค่าอ้างอิงจะต่างกันเล็กน้อย และถ้ามีข้อสงสัยมากหรือ ไม่แน่ใจว่าโปรตีนหรือแอลบูมินรั่วออกมาเท่าไรแน่ เราจะใช้วิธีเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงมาวัดตรงๆเลยครับ
วิธีคิดสัดส่วนทำเพื่อให้ง่ายในทางปฏิบัติครับ การศึกษาเทียบเคียงนั้นก็เชื่อถือได้ครับ ยกเว้นโปรตีนรั่วมากๆๆ หรือใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคไตบางชนิด ก็จะใช้วิธีเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง วิธีการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง คือ ให้ถ่ายปัสสาวะทิ้งไปก่อนแล้วเริ่มบันทึกเวลา จากนั้นเก็บปัสสาวะครั้งต่อๆไปในขวดสีชาที่ใส่โซเดียมอะไซด์ กันปัสสาวะบูด จนครบ 24 ชั่วโมงเมื่อครบกำหนดเวลาให้เก็บปัสสาวะครั้งสุดท้ายแล้วนำส่งห้องปฏิบัติการ โดยช่วงรอเวลาครบ 24 ชั่วโมงควรเก็บขวดปัสสาวะนั้นในตู้เย็น เขียนป้ายติดดีๆนะครับ...
เมื่อได้ค่าสองตัวนี้มาจะวางแผนการดูแลได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น สามารถชะลอความเสื่อมได้ดีขึ้น โอกาสเกิดไตวายจนต้องเข้ารับการเปลี่ยนไตหรือฟอกเลือดก็จะลดลงครับ ดังนั้นมาตรฐานการประเมินไตเสื่อมในทุกวันนี้ ต้องแม่นขึ้นนะครับ ค่าการคำนวณดังกล่าวมีแอปคำนวณ มีโปรแกรมแจกฟรีในกูเกิ้ลมากมาย
เราได้รู้จักไตเสื่อมและเกณฑ์วัดมาตรฐานแล้วนะครับ ใครสนใจอ่านเพิ่มได้ที่ KDIGO guidelines for CKD 2012 ผมลิงค์มาให้แล้วครับ
http://www.kdigo.org/clinical_pract…/…/KDIGO_2012_CKD_GL.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น