28 พฤษภาคม 2559

กลืนกรด กลืนด่าง..ทำอย่างไรดี

กลืนกรด กลืนด่าง..ทำอย่างไรดี

น้ำยาล้างห้องน้ำเป็นจำเลยอันดับหนึ่งนะครับ ยังมีจำเลยร่วมอีกบ้างได้แก่ กรดแบตเตอรี่ แบตเตอรี่เม็ด ดูจากจำเลยแล้วเห็นว่าถ้าผู้ใหญ่กลืนส่วนมากเป็นการเจตนาครับ มีบ้างที่ผสมแล้วเก็บในขวดเบียร์แล้วไม่ทราบ แต่ถ้าเด็กๆกลืนจะกลืนเนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าอันตรายเมื่อขณะกลืนยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ก็จะไม่มีทางถามเด็กได้ว่า "หนูไปกลืนอะไรมา"
ในเด็กๆนั้นสิ่งที่น่าสงสัยคือ มีรอยไหม้รอยแดงรอบๆปากและในปาก เสียงแหบลง ไอมากอาเจียนตลอด น้ำลายไหลมาก ก็จะต้องสงสัยครับ เนื่องจากสารกรดและด่างนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนทั้งคู่ก็จะเกิดอันตรายทั้งแต่ปาก จมูก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะ และมักจะสิ้นสุดที่กระเพาะกับลำไส้เล็กส่วนต้น สารด่างจะอันตรายกว่าสารกรดเพราะว่า ฤทธิ์การทำลายของมันนั้นทำให้เนื้อเยื่อละลายหลอมเหลวกันเป็นก้อน (liquefactive) เลือดแข็งตัวและลุกลามทะลุไปเรื่อยๆ แถมสารด่างส่วนใหญ่จะไม่มีสีไม่มีกลิ่นกว่าจะรู้ตัวก็ดื่มไปมากแล้ว --ปัจจุบันน่าจะมีการผสมกลิ่นเพื่อป้องกันการเผลอดื่มครับ-- ส่วนสารกรดจะมีฤทธิ์กร่อนผิวให้หลุดลอก (mucosal necrosis) และมักเป็นแต่ผิวๆหลอดอาหาร แต่ที่จะอันตรายมากๆอยู่ที่ช่องปากและลำคอเนื่องจากกรดจะมีกลิ่นฉุนแรงทำให้ขย้อนออกมา จึงมีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนที่คอหอยและอาจสำลักลงปอดได้ครับ
จะทำอะไรบ้างเมื่อทราบว่ากลืนกรดหรือด่างลงไป

1. อย่างแรกและสำคัญที่สุด กาดอกจันสามดอกขีดเส้นใต้สามเส้นเอาเน้นข้อความอีกสามสี คือการดูแลเรื่องทางเดินหายใจครับ เพราะคอหอยเราเป็นทางเดินร่วมของอาหารและอากาศ การกลืนสารกัดกร่อนอาจสำลักหรือไปทำลายกล่องเสียงแล้วไปอุดกั้นทางเดินหาบใจได้ จับนอนตะแคงหน้ากันสำลักถ้าหายใจไม่ออกให้เชิดคางขึ้นด้วย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต้องระวังสิ่งอื่นๆที่ไปอุดหลอดลม การใส่ท่อช่วยหายใจต้องทำอย่างนิ่มๆเพราะโอกาสทะลุสูงมากครับ

2. ห้ามทำให้อาเจียนและไม่ต้องกลืนอะไรตามเข้าไปอีกเพื่อจะไปหวังผลหยุดการทำลายของกรดด่าง เพราะเมื่ออาเจียนบางทีเนื้อเยื่อที่ดีๆหรือปลอดภัยไปแล้วก็ถูกสารกัดกร่อนย้อนมาทำร้ายอีก และอาจสำลักได้ครับ การกลืนสารใดๆเพื่อหวังผลไปล้างความเป็นกรดหรือด่าง มีการศึกษาออกมาเรียบร้อยแล้วว่าไม่เกิดผลใดๆ และอาจทำให้ระคายเคืองมากขึ้นด้วยซ้ำ

3. ไม่ควรใส่สาย nasogastric tube เพื่อการใดๆทั้งสิ้น การใส่โดยมองไม่เห็นเป็นอันตรายมาก ในกรณีที่ไม่ทราบว่ากินอะไรมา ให้งดใส่ nasogastric tube ครับ ถ้าจะใส่ควรใส่ผ่านการส่องกล้องครับ

4. ผู้ป่วยควรได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นภายใน 12-48 ชั่วโมงครับ ในช่วงนี้จะเห็นร่องรอยการบาดเจ็บที่ชัด โอกาสทะลุยังไม่มากเท่าไรแต่หลังจากนี้คงไม่ได้ประโยชน์มากนัก เก็บไว้ทำเพื่อประเมินและรักษาการตีบตันในอีกสองถึงสามเดือนดีกว่า การส่องกล้องตอนแรกทำเพื่อประเมินความรุนแรงและจัดกลุ่มผู้ป่วย (Zargar'a grading classification) ถ้าไม่รุนแรงมากก็อาจให้กินอาหารได้ แต่ถ้ารุนแรงอาจต้องงดอาหารและนอนโรงพยาบาลเพื่อระวังการทะลุ ในกลุ่มที่รุนแรงมากๆก็อาจต้องนัดมาตรวจว่าทางเดินอาหารตีบตันหรือไม่ภายหลัง

5. ยังไม่มียาใดพิสูจน์ว่าช่วยลดความรุนแรง ลดอาการอักเสบหรือลดโอกาสตีบตันได้นะครับ การใช้ยาเพื่อรักษาตามอาการ ประคับประคอง และในกรณีติดเชื้อซ้ำซ้อนเท่านั้น

อันตรายที่สำคัญในระยะต้นคือทางเดินอาหารทะลุ ก็จะมีลมและกรดด่าง แบคทีเรียเข้าไปในช่องอกช่องท้องได้ เอกซเรย์ปอดจะช่วยได้มากเลยครับอาจเห็นลมรั่วในช่องอก ช่องท้องอย่างนี้ต้องผ่าตัดด่วนนะครับ ส่วนอันตรายในระยะยาวคือการไหม้และเป็นแผลเป็น มีการระคายเคืองของทางเดินหายใจ เสียงแหบ ส่วนทางเดินอาหารก็จะมีการตีบตันจากพังผืดแผลเป็นที่เกิดในหลอดอาหาร กระเพาะ ซึ่งต้องมาส่องกล้องเพื่อใส่อุปกรณ์ถ่างขยายบ่อยๆ หรือต้องผ่าตัดแก้ไขในอนาคต
สารด่างนั้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิด squamous cell carcinoma ดังนั้นผู้ที่กลืนด่างควรได้รับการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งโดยส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนทุก 1-3 ปี นับจากกลืนด่างมาแล้ว 20 ปี

ที่มา Sleisenger and Fordtran's 10th edition

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม