กิจกรรมการรับน้องครั้งแรกในประเทศ แม้ไม่มีหลักฐานใดๆมาบอกว่าจริง แต่นี่คือตำนาน คือความศักดิ์สิทธิ์ คือเรื่องราวที่เล่าขานกันรุ่นต่อรุ่น แห่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล...การรับน้องข้ามฟาก..
ผมพาท่านย้อนเวลากลับไปในปี 2474 เมื่อ 85 ปีผ่านมาแล้ว การแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา และคณะแพทย์ศิริราช ไม่ได้ระบุว่าแข่งที่ใด ระหว่างแข่งเกิดการชกต่อยขึ้นในสนาม โดยคู่กรณีคือฟูลแบ็กแห่งศิริราช กับนักเตะหนุ่มแห่งวิทยา ซึ่งทางศิริราชระแคะระคายมาก่อนแล้วว่าคงจะเตรียมกันมาฟาดฟันในเกมนี้แน่ๆ จึงร้องเรียนไปทางสโมสรกลางให้ลงโทษนักเตะหนุ่มผู้นั้นและทีม ผลการสืบสวนปรากฏว่าขอให้ลงเอยกันด้วยดี แน่นอนทางศิริราชค่อนข้างไม่พอใจ หมายมั่นปั้นมือจะล้างแค้น...ล้างแค้นอย่างไร เพราะนักเตะหนุ่มผู้นั้นปีหน้าจะต้องย้ายมาเรียนที่ศิริราชนั่นเอง
สมัยก่อนยังไม่มีม.มหิดลนะครับ นักเรียนแพทย์ศิริราชจะไปเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่จุฬาฯก่อน หลังจากนั่นถ้าเลือกเรียนแพทย์ก็จะย้ายมาเรียนที่รพ.ศิริราช วังหลัง ที่อยู่ฝั่งธนบุรีและสมัยนั่นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากำลังสร้างคือ สะพานพุทธยอดฟ้า การเดินทางต้องใช้เรือเท่านั้น และเรือที่ใช้เป็นเรือแจวเสียด้วย เรือข้ามฟากอย่างปัจจุบันยังไม่มี...เป็นที่มาของการข้ามฟาก..มาเรียนที่ศิริราช
คราวนี้ต่างฝ่ายต่างเกรง ฝ่ายศิริราชก็ตั้งใจเอาคืน ฝ่ายวิทยาก็คงหามาตรการอะไรไว้แล้ว แต่ว่าทางสโมสรศิริราชได้คิดว่า เราจะทะเลาะกันไปเพื่อสาเหตุใด และจะทำให้ความสามัคคีในหมู่แพทย์เสื่อมถอยลงด้วย ซึ่งความสามัคคีในหมู่แพทย์นี้เป็นจริยธรรมอันดับสูงของแพทย์ที่มีมาแต่สมัย ฮิปโปเครตีส เลยนะครับ (เรื่องฮิปโปเครตีส ผมเขียนไปตอนวันขึ้นปีใหม่) จึงตัดสินใจไม่เอาคืน จากที่จะต้องก้มกราบขอขมาแล้วโดนโยนน้ำ พวกพี่ๆจึงคิดวิธีรับน้องเพื่อเชื่อมความสามัคคีขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อละลายพฤติกรรม ให้อภัยโดยรุ่นพี่และวอนสั่งรุ่นน้อง ต้นแบบฉบับแห่งการรับน้องใหม่ ของประเทศไทย
พวกพี่ๆจัดงานที่หอพักนิสิตแพทย์ โดยให้พวกรุ่นน้องรอที่ท่าพระจันทร์ ส่วนรุ่นพี่บางส่วนก็แจวเรือไปรับรุ่นน้องที่ฝั่งโน้น โดยแต่งตัวเรียบร้อยเสื้อขาว ที่หัวเรือมีธงเขียวตรงกลางเป็นรูปงูพันคบเพลิง สัญลักษณ์ของศิริราช (ติดที่ป้ายอกเสื้อแพทย์ศิริราชที่ถือเป็นชุดฟอร์มศิริราช) แจวไปรับน้องข้ามฟากมา ที่ท่าศิริราช ไม่ใช่ท่าวังหลังนะครับ ท่าที่ติดป้ายโรงพยาบาลศิริราช ท่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปลอยโคม วันลอยกระทง
พวกพี่ๆชั้นปีสูงกว่า แพทย์ประจำบ้าน คณาจารย์ จะมาคอยรับ ดึงมือขึ้นจากเรือทีละคนจนเป็นที่มาของประโยค "เมื่อเจ้าก้าวขึ้นท่า เจ้ากับข้าพี่น้องกัน" พาน้องๆร้องเพลงสนุกสนานเดินไปที่หอพักที่มีรุ่นพี่อีกกลุ่มรอต้อนรับอยู่ มีการรับขวัญ ร้องเพลง และมีการกล่าวต้อนรับ อบรมสอนสั่งโดยบรรดาอาจารย์อนุสาสก มีการอธิบายถึงการต้อนรับและการให้อภัยอย่างจริงใจของรุ่นพี่ แสดงอโหสิกรรมและคำขอโทษของรุ่นน้อง
หลังจากนั้นก็มีงานเลี้ยงที่มาจากการเรี่ยไรของสมาชิกสโมสรคนละห้าสิบสตางค์บ้าง หนึ่งบาทบ้างรวมๆกันได้หลายบาทและทางโรงครัวก็ใจดีแถมอาหารให้อีก เป็นอาหารที่เรียกว่า "ข้าวหม้อแกงหม้อ" และที่สำคัญตอนนั้นไม่มีเหล้านะครับ หมอที่จะดื่มเหล้าได้นี่ต้องมีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้น --แต่ในคืนนั้นของผมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เมาจนตื่นมาแล้วจำไม่ได้ว่าเมื่อคืนมานอนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร-- หลังจากงานเลี้ยงแล้วก็กลับไปเรียนและทำงานตามปกติ บรรยากาศเป็นพี่น้องเต็มขั้น อาจารย์อาวุโสก็คือพี่ ไม่ใช่อาจารย์ในบทบาทเดิม
เวลาผ่านไปหลายปี สิ่งต่างๆก็แปรเปลี่ยนตามยุคสมัย สถานที่จัดงาน สถานที่อบรมน้องใหม่ เรือที่ใช้ก็เป็นเรือยนต์ข้ามฟากแทนเรือแจว มีอาหารหลากหลาย มีงานปาร์ตี้ลีลาศ มีแอลกอฮอล์ มีการแสดงบนเวที แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยจางไป มนต์ขลังและผูกพันเราชาวศิริราชมารุ่นสู่รุ่นคือความเป็นพี่น้องที่แท้จริง ทุกรุ่นมารวมกัน ดูแลน้องๆไม่ต่างไปจาก 85 ปีก่อน
....และประโยคทองประโยคนี้ที่ก้องในใจเราชาวศิริราช..ตลอดมา..และตลอดไป...
#เมื่อเจ้าก้าวขึ้นท่า_เจ้ากับข้าพี่น้องกัน#
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น