02 พฤษภาคม 2559

บันทึกจากพระบิดา

บันทึกจากพระบิดา

สองสามวันมานี้ ผมไปขลุกอยู่ที่ห้องสมุดทั้งวันเพื่อไปเพิ่มความรู้เกี่ยวกับ Clinical Sport Medicine ผมไปพบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "เทิดพระนาม มหิดล" ได้พบบทความหนึ่ง อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ ตื้นตันใจ มีกำลังใจ เป็นรายงานเรื่องวัณโรค จากเอกสารสาธารณสุข อันดับ 10 ฉบับพิเศษ 24 กันยายน 2463 หน้า 1-28 โดย สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ท่าน สำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นแพทย์ ผมขอบอกว่าสิ่งต่างๆที่พระองค์บันทึกเอาไว้นั้น ยังเป็นจริง อ่านง่ายและใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ จึงอัญเชิญบทความบางตอนของพระองค์ท่านได้อ่านกัน ครับ

"...อาการ โรคทุเบอร์คุโลสิส เป็นโรคที่สังเกตได้ยากในคนเจ็บใหม่ๆ เพราะโรคนี้เกิดเป็นขึ้นช้าๆไม่ทันรู้สึกตัวว่าเจ็บ ค่อยเป็นทีละเล็กละน้อย โดยมากชึ้นต้นด้วยเป็นหวัด ตัวร้อน หรือเป็นโรคอื่นก่อน ครั้นหายแล้วโรคทุเบอร์คุโลสิสย่องมาซ้ำ ทำให้คนเจ็บรู้สึกว่ายังไม่หายจากโรคเก่า มักจะสามวันดีสี่วันร้ายอยู่นานกว่าจะเห็นได้ถนัด ง่าเจ้าทุเบอร์คุโลสิสมาเล่นงานแล้ว
ในที่นี้จะขอเล่าถึงอาการที่คนเป็นทุเบอร์คุโลสิสมักจะมีไม่มากก็น้อยไม่เร็วก็นาน แต่บางคนก็ไม่มีอาการอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ทุกอย่าง และถ้ามีอาการอย่างเดียว ก็ไม่จำเป็นจะเป็นทุเบอร์คุโลสิส เช่นทีอาการไออย่างเดียว อาจเป็นด้วยโรคอื่นหลายอย่าง แต่ถ้าเป็นหลายอย่างตามที่จะกล่าวต่อไปนี้รวมกันแล้ว ทายได้ไม่ใคร่ผิด
อาการต่างๆ ของคนเป็นทุเบอร์คุโลสิส มีดังนี้
๑.ไอ ชั้นต้นดูเหมือนเป็นหวัด แต่ไอน้อยๆเรื่อยๆไป ทีแรกไอแห้งแคกๆแต่เมื่อโรคหนักขึ้นก็มีน้ำมูกและเสมหะออกมาด้วย ที่นี้ทำให้ไอดังโขลกๆ ในชั้นต้นมักจะรู้สึกเจ็บชายโครงเวลาไอ บางคนเป็นมากเสมหะที่ไอออกมามักจะเหนี่ยว และมีสีเขียวช้ำ มีกลิ่นเหม็นแรงและโดยมากเมื่อไข้หนักลงมักจะมีโลหิตปนเสมหะออกมาด้วย ทำให้เสมหะเป็นสีน้ำตาลหรือแดงเป็นทางๆ เมื่อโรคหนักไอก็มากขึ้นทุกที เวลาเช้ามากกว่าบ่าย จนเจ็บหนักไม่มีกำลังไอจึงคลาย
๒.อ่อนเพลีย คนหายเจ็บใหม่ มักจะรู้สึกเพลีย ไม่มีแรง แต่ก็มักจะมีกำลังขึ้นเร็ว แต่คนที่ตั้งต้นเป็นทุเบอร์คุโลสิส ต่อจากโรคอื่นแล้ว ก็เพลียเหมือนกันและเพลียมากขึ้นทุกที เช้าเป็นน้อย
๓.ผอม ตอนต้นคนไข้ยังไม่รู้สึกว่าผอมลงมาก เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นคนที่ผอมอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอาการไข้และไอ คนไข้มักจะผอมลงเร็วมาก เห็นทันตา แต่ตอนปลายมักจะทรง
๔.ผิว ผิวหนังมักจะซีดลง และชักมีสีเหลืองและใสบางเหมือนขี้ผึ้งสีปากสีนวน เวลาค่ำหรือเวลาสนุกสนาน มักจะมีแก้มแดงเป็นดวงคล้ายกับปูนแต้ม ผิดกับคนมีโลหิตดีตามธรรมดา ดวงนัยน์ตามักจะมัวในเวลาเช้า แต่ใสแจ่มเวลากลางคืนตอนหัวค่ำ ตาขาวมักมีสีคล้ายสีฟ้า
๕.ไข้ อาการไข้มักจะมีตั้งแต่ต้นเจ็บ แต่โดยมากตัวร้อนน้อยเหลือเกิน จนไม่มีใครสังเกต ตัวร้อนมักจะมาเวลาค่ำ แต่ไม่มากพอที่คนไข้จะเดือดร้อนเหมือนจับไข้มักจะกลับสบายขึ้นเสียอีก แต่เวลาเช้าตัวมักเย็นกว่าธรรมดาและเป็นเวลาที่คนไข้รู้สึกมึน และเพลียมากนอกจากเวลาค่ำ คนไข้อาจมีอาการตัวร้อนได้ง่าย ถ้าทำการหนักเกินไปหรือตกใจ หรือดีใจมากเกินไปผิดกับคนธรรมดามาก ตัวมักจะไม่ร้อนเหมือนคนที่เป็นไข้อื่นๆ ปรอทขึ้นอยู่ในราว ๑๐๑ องศาฟาเรนไฮต์ เป็นอย่างสูง
๖.หัวใจ และชีพจรมักเต้นแรงในเวลาที่มีไข้และถึงเวลาที่ไม่มีไข้ หัวใจและชีพจรก็มักจะเต้นแรงและเร็วกว่าธรรมดา
๗.เหงื่อออก ในเวลานอนกลางคืน และมักมีไข้ในตอนหัวค่ำ ตกดึกมีอาการคล้ายส่างไข้และมีเหงื่อออกมากจนเสื้อผ้าเปียกทำให้นอนไม่หลับ พอตื่นเช้าตัวก็เย็นและทำให้สะท้าน
๘.โลหิต โลหิตออกเพราะเชื้อโรคกินถึงหลอดโลหิต ทำให้หลอดรั่ว อาการโลหิตออกมักจะมีเมื่อคนไข้ต้องออกกำลังมากเกินไป เช่น วิ่งหนีฝน หรือยกของหนักแล้วเหนื่อยหอบ อาการโลหิตออกอาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้
ก.เมื่ออาการหนักมากขึ้น ส่วนโลหิตในเสมหะที่ไอออกมาก็มีมากขึ้นจนลงท้ายมีโลหิตออกมาสดๆ ไอเวลาเช้า มักมีโลหิตมากกว่าเวลาบ่าย
ข.บางคนไม่มีโลหิตออกในเวลาไอ แต่กระอักออกมาเป็นลิ่มๆในเวลาเช้า หรือบางทีเป็นน้ำออกมาประมาณถ้วยตะไล โลหิตใสอาการหนักกว่าโลหิตเป็นลิ่มๆ
ค.โลหิตอาจออกมาทางปากเป็นอาเจียนโลหิตเมื่อเป็นเช่นนี้มักจะไม่รอดไปกี่วัน
เมื่อคนไข้คนใดมีอาการดังกล่าวมาแล้วนี้ทั้ง ๘ ประการ ใครที่ได้อ่านหนังสือฉบับนี้ก็อาจทายได้ว่าคนนั้นเป็นโรคทุเบอร์คุโลสิส แต่บางไข้ก็เป็นแต่บางอย่างเท่านั้น จนแพทย์เองก็สังเกตไม่ใคร่ได้ต้องตรวจปอดและฟังลมหายใจ
แต่วิธีตรวจโลกทุเบอร์คุโลสิสอย่างแน่ที่สุด คือวิธีตรวจหาเชื้อโรค ถ้าผู้ใดเป็นโรคทุเบอร์คุโลสิสในปอดผู้นั้น มักจะมีเชื้อโรคติดในเสมหะที่ขากออกมา แต่เชื้อโรคเล็กเหลือจะเห็นด้วยตาเปล่า เพราะฉะนั้น คนธรรมดาจึงตรวจไม่ได้ แต่ถ้าคนพยาบาลคนไข้สงสัยโรค ทุเบอร์คุโลสิส ก็ควรเก็บเสมหะใส่ไว้ในขวดเล็กที่สะอาด แล้วปิดฝาให้มิดชิดและส่งไปให้โรงพยาบาลตรวจ เจ้าพนักงานที่นั่นจะละเลงเสมหะลงบนแผ่นกะจกแล้วย้อมด้วยสีสวรรค์ชะนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เห็นเชื้อโรคได้ชัดขึ้นแล้วส่องกล้องดูก็จะรู้ได้ว่ามีเชื้อทุเบอร์คุโลสิสหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ควรส่งเสมหะมาตรวจอีกสัก ๓ หน เว้นระยะห่างกันสักครั้งละ ๑๐ วัน เพื่อให้แน่ใจ
เมื่อค้นหาเชื้อทุเบอร์คุโลสิส ได้แม้แต่ตัวเดียวเราก็จะรู้ได้ว่า พวกปัจจามิตร์ย่องเข้าค่ายได้แล้ว และคงยังมีพวกพ้องอยู่ในตัวเราอีกมาก เราก็ต้องตั้งต้นรีบขับไล่ มันไปเสียให้หมด มิฉะนั้นค่ายก็คงแตกเป็นแน่...”

True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind.
คติพจน์ ที่ทรงบันทึกไว้ที่แผ่นแรกของสมุดปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน-- คติที่ผมยึดถือยิ่งชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม