อีกหนึ่งเหตุผลที่มะเร็งลำไส้ยังเป็นเหตุการเสียชีวิตและสูญเสียทรัพยากรในการรักษามากมาย แม้ว่าเทคโนโลยีในการรักษาเราจะดีขึ้น มียาพุ่งเป้าที่ดี สูตรยาเคมีที่ทรงประสิทธิภาพ คือ ขาดการคัดกรองที่เหมาะสม
คำแนะนำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนที่ปรกติดี มีคำแนะนำมามากมาย โดยทั่วไปก็เริ่มคัดกรองเมื่ออายุ 50 ปี ด้วยวิธีการตรวจอุจจาระ หรือเอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เราเรียกการคัดกรองในกลุ่มนี้ว่า การคัดกรองในกลุ่ม average risk โอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นกับเชื้อชาติ ปกติประมาณ 2.5-3.5% สำหรับการคัดกรองกลุ่มนี้ พบแล้วว่าคุ้มค่า ดีกว่าไปรักษาตอนโรคระยะท้าย
แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ควรใส่ใจ เพราะเสี่ยงมากกว่า คือ กลุ่มที่เป็นญาติผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้
ญาติสายตรงของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ 2.5 -3 เท่า และการคัดกรองจะช่วยให้เจอมะเร็งระยะต้น รักษาโดยเพียงแค่ผ่าตัดก็หาย ไม่ต้องให้ยาเคมีหรือยาพุ่งเป้า ลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลงได้มากมาย
แต่ทว่า ญาติสายตรงกลับไม่ค่อยเข้ารับการตรวจมากนัก เคยมีการสำรวจและวิจัย ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวหมอผู้รักษาเอง ไม่ได้แนะนำให้ครบถ้วน อีกสาเหตุคือเรื่องสิทธิการตรวจคัดกรอง ก็คือค่าใช้จ่าย ทั้ง ๆ ที่มีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่ามาแล้วว่า แม้แต่ average risk ยังคุ้ม ส่วนในกรณีเสี่ยงมากกว่าเดิมแบบนี้ (increased risk) ก็คุ้มค่ากว่าด้วย
ผมมาสรุปให้ฟังง่าย ๆ ว่า ถ้าเราป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ หรือญาติเราป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ เราจะคิดอ่านประการใด (ญาติสายตรง คือ พ่อแม่ของเรา พี่น้องท้องเดียวกับพ่อแม่เรา และลูกของเรา)
- ถ้าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ หรือตรวจพบรอยโรคเสี่ยงสูง (advanced adenoma) อายุมากกว่า 60 ปี จะให้ญาติสายตรงมาทำการตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 40 ปี เร็วกว่า average risk เร็วขึ้น 10 ปี โดยใช้วิธีและระยะห่างเหมือนกับ average risk คือส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุก 10 ปี
- ถ้าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ หรือตรวจพบเนื้องอกเสี่ยงสูง (advanced adenoma) อายุต่ำกว่า 60 ปี เราจะแบ่งออกเป็นสองแบบ
++ ถ้าเป็นมะเร็ง ตรวจทั้งญาติสายตรงและญาติใกล้ชิด เช่น หลาน ลุง ป้า แต่คำแนะนำเรื่องญาติใกล้ชิดยังเป็นคำแนะนำที่น้ำหนักไม่มากและหลักฐานไม่ชัด
++ ถ้าเป็นเนื้องอกที่เสี่ยงสูง (advanced adenoma) ตรวจคัดกรองแค่ญาติสายตรง
- ตรวจโดยวิธี ส่องกล้องลำไส้ทุก 5 ปี โดยเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือนับตั้งแต่อายุของผู้ป่วยที่ตรวจพบ ลบด้วย 10 (เช่นตรวจพบ 45 ปี ก็เริ่มตรวจญาติ ตอนญาติอายุ 35 ปี) แล้วแต่อันไหนถึงก่อน
- มีหลายการศึกษาและคำแนะนำ ระบุว่าให้ตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือถ้าทำไม่ได้ก็ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ แต่ไม่แนะนำการตรวจอุจจาระเพียงอย่างเดียว
ส่วนตัวผมเคยแนะนำคัดกรองในครอบครัวแบบนี้มาหลายครอบครัว พบว่า มีไม่ถึง 10% ที่มารับการคัดกรอง ส่วน 10% ที่มาคัดกรองก็ยังไม่รู้ว่าจะมาอีกไหม ผมพอจะเข้าใจว่า การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ยังทำได้ไม่แพร่หลาย ราคายังสูง (ต่ำ ๆ ก็ 20,000 ต่อครั้ง เก็บเงินปีละ 4,000-5,000 ) ข้อบ่งชี้ในการคัดกรองก็ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้
ดังนั้นคนที่จะคัดกรองได้ส่วนใหญ่คือต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควรและเข้าใจในหลักการของการคัดกรองเพื่อค้นพบและรักษาเร็ว จะคุ้มค่ากว่า ทุกข์ทรมานน้อยกว่า รักษาง่ายกว่า มีอาการแล้วค่อยรักษา
ในอนาคตหากเราสามารถพัฒนา circulating tumor DNA สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือทำ Genetic Screening ได้แม่นยำและราคาไม่แพง อาจจะมาเป็นตัวเลือกที่ดีก็ได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น