14 พฤศจิกายน 2564

ห้องสมุดนีลเซ่น เฮย์

 ชายชราพาเที่ยว

ห้องสมุดนีลเซ่น เฮย์ หนึ่งในสถานที่สุดสวย เก่าแก่และโรแมนติก ใจกลางกรุงเทพ

ห้องสมุดนี้ผมเคยเห็นมานานแล้วนะครับ แต่ไม่เคยได้เข้าไปสักที ตอนเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ผมต้องขึ้นรถประจำทางสาย 1 เป็นประจำครับ ก็จะเห็นห้องสมุดนี้บ่อย ๆ แต่ไม่รู้ทำไมจึงไม่เข้าไปสักที จนเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ถือโอกาสไปเยือนเสียที

การเดินทางไม่ยากเลยครับ สำหรับคนในกทม. คุณสามารถไปทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีช่องนนทรี และสามารถเดินไปที่ห้องสมุดได้เลยครับ ระยะทางไม่ไกล หรือใครต้องการนั่งรถประจำทางก็รถที่ผ่านถนนสุรวงศ์นะครับ มีป้ายรถเมล์อยู่หน้าห้องสมุดเลย ส่วนรถส่วนตัวผมไม่แนะนำเพราะที่จอดรถมีน้อยและรถติดพอสมควรครับ

ภายในห้องสมุดร่มรื่นมาก เดินเข้าไปก็จะเจออาคารเก่าสวย มีโดมสูงเป็นสง่า นั่นคืออาคารห้องสมุด จะเห็นคนมาถ่ายรูปอาคารนี้ตลอดครับ อาคารสวยจริง ด้านข้างจะเป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ขายกาแฟ เครื่องดื่ม เบเกอรี่และอาหารง่าย ๆ ครับ คนไม่พลุกพล่านและราคามาตรฐาน ชื่อร้านก็แสนจะเก๋ไก๋ “ปะแล่ม-ปะแล่ม” ถ้าใครไปนะครับ สั่งเครื่องดื่มอุ่น ๆ มาจิบด้านหน้า บรรยากาศเอ้าท์ดอร์ ชมสถาปัตยกรรมสวย และผู้คนเดินเข้าออกห้องสมุด มีความสุขดีเหมือนกัน

วันที่ผมไปห้องสมุด เขามีงานเลหลังหนังสือห้องสมุดครับ ปกติที่ห้องสมุดนีลสันเฮย์นี้ จะมีงานขายเลหลังปีละครั้ง มีทั้งหนังสือเก่า หนังสือใหม่ ซีดีเพลง ในราคาที่ถูกเหลือเชื่อครับ แต่ผมไม่ได้มีเจตนามาซื้อนะครับ บังเอิญว่างวันนี้พอดี เลยได้มาเห็นงานนี้ด้วย ทำให้คนเยอะนิดนึง แต่ทางห้องสมุดก็ทำมาตรการเว้นระยะห่างและจำกัดคนที่เข้าได้อย่างดีครับ

เมื่อเข้าไปด้านใน ปกติหากไม่ได้เป็นสมาชิกและต้องการจะเข้าชมสถานที่ จะต้องเสียค่าบำรุง 100 ต่อครั้งครับ แน่นอนสมาชิกไม่ต้องเสียรายครั้ง แต่เสียรายปี ห้องสมุดเอกชนในบ้านเรามีไม่มาก ธรรมเนียมคือ เสียค่าบริการรายปีและยืมคืนได้ตามปกติ (ในต่างประเทศมีห้องสมุดเอกชนหรือดำเนินการโดยเอกชนมากพอควร)

เมื่อเข้าไป อาคารภายในเป็นพื้นไม้โทนอุ่นที่สวยมาก ตู้เก็บหนังสือเป็นตู้ไม้บานเปิดกระจก เพื่อให้มองเห็นสันชื่อหนังสือด้านใน แบ่งออกเป็นหมวดหมู่และแต่ละหมู่ก็แยกตามชื่อผู้ประพันธ์ครับ ตู้เรียงรายชิดผนังดูสวยมาก

ในวันที่ไป มีงานเลหลัง พื้นที่โถงส่วนหน้าจึงตั้งโต๊ะให้เลือกซื้อหนังสือกัน มองไปด้านขวาคือเคาท์เตอร์ของบรรณารักษ์ สามารถมาติดต่อสมัครสมาชิก จ่ายเงิน ดำเนินการยืมคืน จ่ายค่าปรับที่นี่ แต่ในวันนี้เป็นจุดชำระเงินครับ และในงานเลหลังนี้ เข้าชมฟรีครับ (โชคดีทีเดียว)

ผู้คนที่มาเลือกซื้อมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศครับ เพราะหนังสือเลหลังที่นี่กว่า 80% เป็นหนังสือภาษาต่างประเทศครับ ผมได้หนังสือนำเที่ยวประเทศไทยมาเล่มหนึ่งเป็นที่ระลึก ราคาร้อยกว่าบาท จากปกคิดเป็นราคาไทยน่าจะเกือบพัน ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไปร้านไหนก็ต้องมีที่ระลึกติดมืออย่างน้อยหนึ่งเล่ม คนที่เข้ามาเลือกส่วนมากเป็นหนุ่มสาวครับ ดีใจแทนโลกหนังสือ สุดท้ายคนยังอ่านหนังสือกันอยู่นะครับ (ถ้าราคาไม่แพงเกินไป)

ในส่วนกลาง ก็ยังมีตู้หนังสือรายรอบชิดผนัง พื้นที่ตรงกลางเป็นโต๊ะบุฟเฟ่ต์เลือกหนังสือ ปกติจะเป็นโต๊ะเก้าอี้ให้อ่านหนังสือครับ และส่วนที่สามเป็นส่วนของสมาชิกครับ แต่ผมก็ขอเขาเข้ามาดูในวันนี้ แหะ ๆ

น่้าจะเป็นส่วนปกติครับ จัดตู้หนังสือแบ่งสัดส่วนออกเป็นห้องย่อย ๆ เชื่อมต่อกันตรงกลาง มีเก้าอี้และไฟอ่านหนังสืออยู่แต่ละห้องแยก พื้นไม้ขัดมัน เพดานสูง โค้ง ทาสีสว่าง กระจกที่รายรอบอาคาร ช่วยให้แสงเข้ามาได้พอดี ทำให้ห้องสมุดดูขลังและสวยมาก ในส่วนนี้ส่วนมากเป็นที่อ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน

ขอบอกก่อนว่าที่นี่ไม่ใช่ห้องสมุดหนังสือเก่านะครับ มีหนังสือร่วมสมัย เบสต์เซลเลอร์ พิมพ์ใหม่ ยอดนิยมอยู่เช่นกัน ใครก็เข้ามาอ่านได้เลยครับ หรือใครนิยมหนังสือเก่าก็มีให้บริการเช่นกัน

ที่มุมนี้มีจุดจัดแสดง หนังสือยุคแรก ๆ ของห้องสมุด บัตรห้องสมุด จดหมายของผู้ก่อตั้ง รูปถ่ายของเจ้าของชื่อห้องสมุดจัดแสดงในตู้อีกด้วย และหากใครเคยอ่านที่มาของห้องสมุดนี้จะทราบว่า เขาเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ทัชมาฮาลเมืองไทย

ทำไมเป็นเช่นนั้น

ห้องสมุดนี้ตั้งชื่อตามเจ้าของหนังสือสะสมเมื่อกว่าร้อยปีก่อนคือ เจนนี่ นีลเซ่น มิชชันนารีอเมริกันสัญชาติเดนมาร์ก ที่เข้ามาสอนศาสนาในบ้านเรา

คุณนีลเซ่น ชอบอ่านหนังสือ สะสมหนังสือ แบ่งหนังสือให้คนอื่นอ่าน มีหนังสือในความครอบครองมาก เรียกว่าเปิดเป็นห้องสมุดได้เลยแหละ

คุณนีลเซ่นมาพบรักกับคุณหมอเฮย์ หนึ่งในคุณหมอยุคบุกเบิกในประเทศไทย ตามบันทึกที่ปรากฏ ความรักก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อาชีพมิชชันนารีก็ต้องเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เพชรบุรี

คุณหมอเฮย์ก็ไม่ย่อท้อ เทียวไปเทียวกลับไปจีบคุณนีลเซ่นด้วยเรือเมล์ เดินทางเป็นวันนะครับ ไปเจอกันไม่นานก็ต้องกลับด้วยข้อจำกัดของเที่ยวเรือเมล์และภาระงานของหมอเฮย์ จนกระทั่งคุณนีลเซ่นยอมตกร่องปล่องชิ้นกับหมอเฮย์ แต่งงานแล้วเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ

ด้วยความรักหนังสือและชอบงานห้องสมุดของคุณนีลเซ่น เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพก็ได้เข้ามาทำงานกับสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ ที่ตั้งโดยสตรีชาวตะวันตก แต่ก็เปิดให้บริการกับคนทั่วไป คุณนีลเซ่นเข้ามาบริหารงานห้องสมุดและสร้างความก้าวหน้ามากมาย เป็นเวลากว่า 20 ปี คุณเจนนี่ นีลเซ่น เฮย์ ก็จากไปด้วยโรคอหิวาตกโรค สมัยนั้นยังรุนแรงและเรายังไม่รู้วิธีรักษานะครับ

หลังจากที่คุณนีลเซ่นจากไป คุณหมอเฮย์ก็เศร้าโศกเสียใจ ระทมทุกข์ ระลึกถึงคนรักและภรรยาที่แสนดีมาตลอด คุณหมอจึงรวบรวมเงินที่มีตั้งใจจะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรักระหว่าคุณหมอกับคุณนีลเซ่น จึงซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์ตรงนี้แหละ และจ้างทีมสถาปนิกชาวอิตาลี ทีมเดียวกับที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้มาออกแบบอาคารเพื่อเก็บสะสมหนังสือที่เธอรัก อาคารแห่งนี้แม้ถูกออกแบบและสร้างมาเป็นร้อยปี แต่ยังสวยและได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามด้วยนะครับ

เมื่ออาคารเสร็จและทำที่เก็บหนังสือเรียบร้อย คุณหมอก็ยกทั้งหมดให้สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ มาทำเป็นที่ทำการห้องสมุดต่อไป และอีกไม่นานคุณหมอก็เสียชีวิตลง ร่างของคุณหมอได้ฝังเคียงข้างภรรยาตลอดไป

แหมช่างโรแมนติกหวานซึ้งใจมากครับ

หลังจากปรับปรุงบูรณะหลายครั้ง ตอนนี้ห้องสมุดนีลเซ่น เฮย์ กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง คุณสามารถไปเยี่ยมชม อาคารสวย หนังสือเก่า บรรยากาศห้องสมุด กาแฟอร่อย ๆ ได้เลยครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ กลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม