25 พฤศจิกายน 2564

เจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่ได้แนะนำเจาะตรวจทุกราย

 ผู้ป่วยรายหนึ่ง มาติดตามนัดด้วยโรคลิ่มเลือดดำอุดตันที่ขาและหลุดไปที่ปอด อาการก็ปกติดี ผู้ป่วยรายนี้มีโรคร่วมคือเบาหวาน ซึ่งรักษาดี ไม่มีผลแทรกซ้อน ใช้ยา metformin ขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อวันและ dapagliflozin 10 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ยาลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด rosuvastatin 10 มิลลิกรัมต่อวัน

ผู้ป่วยมีสมุดบันทึกการตรวจน้ำตาลจากการเจาะปลายนิ้วมาดูด้วย เจาะทุกวันเลย เช้าบ้าง เย็นบ้าง ผู้ป่วยบอกว่าเพื่อนในกลุ่มไลน์ เป็นเบาหวาน ฉีดยาอินซูลินและตรวจน้ำตาลแบบนี้ ช่วยปรับน้ำตาลได้ดี เลยไปซื้อมาใช้และบันทึกบ้าง

ตรวจดูนิ้ว ก็มีรอยเข็มเจาะและรอยช้ำจ้ำเลือดเกือบทุกนิ้วเลย !!!

ถามว่าผู้ป่วยเบาหวานต้องเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วทุกรายไหม : คำตอบคือไม่ต้องนะครับ ปัจจุบันคำแนะนำต่าง ๆ ก็แนะนำน้อยลงมาก เพราะการรักษาในปัจจุบันมีความเสี่ยงน้ำตาลต่ำน้อยลงแล้ว และการประเมินผลแทรกซ้อนจากน้ำตาลสูงเราใช้ค่า HbA1c มากกว่าระดับน้ำตาลปลายนิ้ว หรือแม้แต่ระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งแปรปรวนมากในแต่ละวัน

ผู้ป่วยที่จะต้องเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว คือ ผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ฉีดอินซูลินหรือยา sulfonylurea และมีความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสน้ำตาลต่ำ อีกกลุ่มคือผู้ที่ต้องปรับการรักษาบ่อย เช่น ปรับยาฉีดอินซูลินตามการนับแคลอรี่ หรือในหญิงตั้งครรภ์

นอกเหนือจากนี้ไม่ได้แนะนำเจาะตรวจทุกราย เพราะไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง ไม่ได้นำค่าที่ได้มาใช้มากนัก และเพิ่มโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการเจาะตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ หรืออย่างในผู้ป่วยรายนี้ที่ต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (รายนี้ใช้ warfarin) ก็จะเพิ่มโอกาสเลือดออกมากขึ้นอีกด้วย

ยาที่ใช้ในผู้ป่วยรายนี้ ก็ไม่ใช่ยาที่จะเกิดน้ำตาลต่ำ และการติดตามระดับน้ำตาลเพื่อปรับยาก็ทำทุก 3-4 เดือน ดังนั้น ใช้การตรวจ HbA1c จะดีกว่าครับ ไม่จำเป็นต้องมาเจาะปลายนิ้วทุกวัน แต่เพื่อนเขาฉีดอินซูลิน อาจจะมีความจำเป็นต้องตรวจติดตาม

ส่วนที่ว่าเจาะแล้วเห็นการควบคุมว่าเรากินมากกินน้อย จะได้ปรับการกิน เราก็ไม่ใช้วิธีนี้นะครับ เราใช้การกำหนดพลังงานจากน้ำหนักตัว จากกิจกรรมที่ทำ จากเป้าหมายพลังงาน อย่าลืมว่าที่วัดค่าปลายนิ้วน่ะ คือ น้ำตาล ไม่ใช่ พลังงาน

โอเคนะ จากลุงหมอ ผู้กลัวเข็มทุกชนิด

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม