ปัจจุบันเราสามารถส่งตรวจหายีนแพ้ยาได้ง่ายและสะดวกแล้วนะครับ
เพจเราเคยนำเสนอเรื่องการตรวจยีนแพ้ยามาแล้วหลายครั้ง หลายท่านก็สงสัยว่าจะส่งได้ไหม วันนี้ผมนำเสนอการตรวจที่เราทำได้แน่นอน จากเอกสารขอส่งตรวจจากศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ กองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ในเอกสารการส่งตรวจ มีการระบุว่าจะส่งตรวจเพิ่อวินิจฉัยหรือเพื่อคัดกรองก่อนให้ยา สำหรับยา allopurinol, carbamazepine/oxcarbamazepine, abacavir, isoniazid, PEG-interferon alpha
โดยให้เลือกตรวจหายีนห้าชนิด ดังนี้
1. HLA-B* 15-02 allele สำหรับ SJS/TEN จากยา carbamazepine/oxcarbamazepine
2. HLA-B* 58-01 allele สำหรับ SJ/TEN/DHS จากยา allopurinol
3. HLA-B* 57-01 allele สำหรับ hypersensitivity จากยา abacavir
4. NAT2 diplotyping สำหรับ hepatitis จากยา isoniazid
5. IFNL3 (IL28B) rs 121979860C/T genotyping เพื่อทำนายการตอบสนองของการรักษาไวรัสตับอักเสบซี (โดยเฉพาะ genotype 3) ด้วยยา interferon **แต่ผมคิดว่าอาจจะมีคนส่งน้อยลงเพราะปัจจุบันเราไม่ค่อยใช้อินเตอร์เฟอรอน รักษาคนไข้แล้ว
การส่งสิ่งส่งตรวจทั้งจากเลือดหรือเยื่อบุข้างแก้ม ระยะเวลาการส่ง วิธีการเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วทุกเขตสาธารณสุขทั่วประเทศไทย
การตรวจหายีน HLA B*58-01 และ HLA B*15-02 อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยครับ
เพื่อช่วยลดการแพ้ยาและปฏิกิริยารุนแรงจากยา เราช่วยลดตรงนี้ได้มากจากการตรวจครับ และที่ชื่นใจมากคือ ความรู้เรื่องนี้และการประยุกต์ใช้ รวมถึงการผลักดันเชิงนโยบาย มาจากหมอไทย เภสัชกรไทย และนักวิจัยไทยทั้งหมดครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น