10 กรกฎาคม 2564

การรักษาโรคโควิดแบบง่าย ๆ คร่าว ๆ

 ผมมาเล่าเรื่องการรักษาโรคโควิดแบบง่าย ๆ คร่าว ๆ ให้พวกเราได้เขาใจกันนะครับ

โรคโควิด-19 เป็นการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคใหม่ที่เรายังรู้จักมันน้อยมาก งานวิจัยและการศึกษาใด ๆ ไม่สามารถทำได้สมบูรณ์เพราะระยะเวลาสั้นไป โรคมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แนวทางการรักษาส่วนมากจึงไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนดีนัก

เราแบ่งการรักษาโรคโควิดออกเป็นสามอย่างนะครับ ( by ลุงหมอ's criteria เพื่อความง่าย)

1. ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ

2. ติดเชื้อแบบอาการไม่รุนแรง

3. ติดเชื้อแบบอาการรุนแรง ไปจนถึงวิกฤต

และผมก็แบ่งการรักษาออกเป็นสามแบบคือ

รักษาตามอาการ ลดไข้ ลดไอ แก้ปวด

รักษาเพื่อลดปฏิกิริยาจากร่างกาย มุ่งหวังลดการอักเสบที่มากเกินไป มากเกินกว่าที่ร่างกายจะทนได้ ได้แก่การใช้ยาสเตียรอยด์ และยาต้านสารอินเตอลิวคิน-6 ที่มีในบ้านเราคือ tocilizumab, bacricitinib สุดท้ายคือ พลาสมาจากคนที่หายแล้วมีภูมิแล้ว

รักษาเพื่อมุ่งกำจัดหรือลดความสามารถของไวรัส โดยใช้ยาต้านไวรัส ที่มีในบ้านเราคือ favipiravir และ remdesivir

🇮🇹🇮🇹 สำหรับการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เราไม่มีตัวเลขชัด ๆ ว่าเท่าไร แต่นี่คือกลุ่มใหญ่ครับ ไปตรวจเจอ ไม่สัมผัสใกล้ชิดแล้วไปตรวจพบ เราก็ไม่ต้องให้การรักษาตามอาการเพราะไม่มีอาการ มีข้อมูลว่าปริมาณเชื้อจะไม่มากและร่างกายจัดการเองได้ จึงไม่ต้องให้ยาใด ๆ เลย แค่แยกตัวออกมา ไม่ทำให้ตัวเองแพร่เชื้อ เชื้อจะหายไปได้เอง บางคนติดจนหายยังไม่รู้ตัวเลยครับ

แล้วถ้าเราเกิดเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น อายุมาก โรคประจำตัวเพียบเลย ถามว่าต้องให้ยาต้านไวรัสหรือยาใด ๆ ไหม ก็ยังไม่ต้องให้นะครับ แค่สังเกตอาการใกล้ชิดขึ้น ตรวจจับอาการที่แย่ลงให้เร็ว ยิ่งถ้าได้วัคซีนจะยิ่งปลอดภัยครับ

🇮🇹🇮🇹 ต่อมาคือหากเราติดเชื้อแบบมีอาการ แต่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ต่ำ ๆ ไอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัว ท้องเสียถ่ายเหลว อันนี้ก็ยังรักษาตามอาการครับ เช็ดเนื้อเช็ดตัว กินยาพาราเซตามอลลดไข้ลดปวด ใครปวดมากอาจจะขยับไปเป็นยากลุ่มโอปิออย (อนุพันธ์ของมอร์ฟีน) ในขนาดต่ำ ดื่มเกลือแร่ ใช้ยาลดอาการไอ ยาลดน้ำมูก หรือจะกินฟ้าทะลายโจรก็ไม่ผิดแต่อย่างใดครับ

สำหรับคนที่มีแนวโน้มจะแย่ลง หรือคนที่มีโรคประจำตัว นอกจากการรักษาตามอาการแล้ว คุณหมอที่ดูแลจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้นครับ เช่นไข้สูงมากขึ้น เริ่มเหนื่อย หรือเอ็กซเรย์ปอดเริ่มผิดปกติ เรามีข้อมูลว่าให้เร็วจะดีกว่าให้ช้าครับ ยาที่ใช้ก็ยังเป็น flavipiravir ครับ

** ในสองกลุ่มที่ผ่านมา ถ้าอาการไม่รุนแรง ไม่แย่ลง เราก็จะไม่ให้สเตียรอยด์หรือยาต้านอินเตอลิวคินนะครับ อันนี้มีข้อมูลสนับสนุนค่อนข้างดีว่า การใช้ยาจะมีประโยชน์เมื่ออาการรุนแรงเท่านั้น แถมยาอินเตอลิวคินก็แพงมากด้วย เราจึงเทน้ำหนักไปที่ยาสเตียรอยด์ ***

🇮🇹🇮🇹 สำหรับกลุ่มติดเชื้ออาการวิกฤต อันนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก ใส่หมดครับทั้งยาต้านไวรัส ยาต้านการอักเสบ โดยยาต้านไวรัสนี้ตามแนวทางของไทยใช้ favipiravir แต่หากทางเดินอาหารทำงานไม่ดีหรือช็อก ก็อาจต้องใช้ยา remdesivir ที่เป็นยาฉีด หรือหากไม่ตอบสนองต่อ favipiravir จะใช้ remdesivir ก็ขึ้นกับทีมรักษาครับ

*** แนวทางการเลือกยา เปลี่ยนยา มาจากหลักฐานที่ไม่หนักแน่น ต้องใช้ art ในการตัดสินใจมาก เพราะการวิจัยยังน้อย ส่วนในต่างประเทศนั้น ทาง WHO, CDC, EMA ไม่มีคำแนะนำการใช้ favipiravir ครับ จะมีคำแนะนำการใช้ remdesivir แต่ก็มาจากหลักฐานที่ไม่ได้หนักแน่นชัดเจนนัก อีกอย่างยา favipiravir ส่วนมากมาจากงานวิจัยในแถบเอเชีย ทางตะวันตกเขาเลยติดค้างไว้ก่อน เอาไว้จะมาเล่าเรื่อง meta-analysis ยา favipiravir อีกที***

นอกจากให้ยาต้านไวรัส ให้ยาต้านการอักเสบเต็มขนาด ตามลำดับและที่มีให้ใช้ ให้ยาลดไข้ ยาลดไอ ยาขยายหลอดลม ยังต้องมีกรรมวิธีอื่นอีกเช่น นอนคว่ำ ใส่อุปกรณ์ออกซิเจนอัตราไหลสูง (high flow nasal canula) หรือใส่ท่อช่วยหายใจเลยก็มี

อัตราการเสียชีวิตนอกจากตัวโรคโควิดแล้ว พวกโรคเดิมที่นิ่ง ๆ จะมากำเริบช่วงนี้แหละครับ โรคแทรกซ้อนจากโรคเดิมจะตามมา และยังแถมการติดเชื้อซ้ำซ้อน ติดเชื้อในโรงพยาบาล ตามมาอีกมากมาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องดูแลใกล้ชิดมากครับ

🇮🇹🇮🇹 สำหรับกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง แต่ไม่วิกฤต ก็จะได้รับยาต้านไวรัสเช่นกัน ได้รับการรักษาตามอาการ เฝ้าติดตามอาการใกล้ชิด ถ้ามีแนวโน้มแย่ลงเช่น การแลกเปลี่ยนแก๊สในเลือดในปอดเริ่มแย่ลง เอ็กซเรย์ปอดเริ่มแย่ลง อันนี้ทีมรักษาจะพิจารณาการใช้ยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์ก่อน ผลการศึกษามากกว่า รู้จักยาดีกว่า ทั้งข้อดีข้อเสียและราคาไม่แพง หากอาการดีจะค่อย ๆ ปรับลดยาลง

ยาลดปฏิกิริยาของร่างกายหรือต้านการอักเสบนั้น มันช่วยลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีก้ำกึ่ง ๆ จะใส่เครื่องช่วยหรือไม่ใส่ หากใส่แล้วก็ช่วยลดวันที่ต้องอยู่กับเครื่อง และที่สำคัญคือในผู้ป่วยอาการหนักมีหลักฐานชัดเจนและหลักแน่นว่า ลดอัตราการเสียชีวิตอีกด้วย แต่....

ยาพวกนี้มีข้อเสียโดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อแทรกซ้อน ทั้งเชื้อตัวดุตัวโหดในโรงพยาบาลทั้งหลาย และเชื้อที่ซ่อนเร้นฉวยโอกาส เมื่อเราใช้ยาพวกนี้ไปกดระบบภูมิคุ้มกัน (เพื่อลดปฏิกิริยาไม่ให้โอเวอร์เกิน) เชื้อโรคอื่น ๆ ก็ทางสะดวก อย่างที่เราได้ยินข่าวเชื้อรา mucomycosis ในประเทศอินเดียตอนที่ระบาดหนัก ๆ ส่วนในประเทศไทยเราพบเชื้อรา Aspergillus มากกว่าราดำครับ

ยังมีการกำเริบขึ้นมาของไวรัสตับอักเสบบี หรือวัณโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ ปรสิตหนอนพยาธิสารพัดโดยเฉพาะคุณ Strongyloides stercoralis ที่พร้อมจะชอนไชจากลำไส้ไปทั่วร่างกาย

ดังนั้นในคนไข้กลุ่มมีอาการรุนแรง แต่ไม่วิกฤตจะต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย ที่ส่วนมากใช้ศิลปะการปรับยาและรักษามากกว่าศาสตร์ครับ

รายละเอียดไปอ่านได้จาก CDC และ WHO guideline ทันสมัย ละเอียด มีหลักฐานชัดเจนในทุกคำแนะนำครับ ที่ผมเขียนแค่สรุปและวางโครงให้เข้าใจเท่านั้น

🇮🇹 สุดท้ายสรุปก็คือ อิตาลีเป็นแชมป์นะครับ ชนะในเวลา ไม่ต้องต่อเวลา แต่ชนะแค่ 1-0 🇮🇹

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม