ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น วันนี้มีการศึกษาวิจัยมาใหม่ บอกไม่เกี่ยวข้องกัน จริงหรือ ?
ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น คนใจสั่นห้ามดื่มกาแฟ ใครใจสั่นก็พาลไปโทษกาแฟ เป็นความเชื่อที่มีมานาน และมีข้อมูลการศึกษาเล็ก ๆ เมื่อ 40 ปีก่อนว่ากาแฟทำให้เกิดใจสั่นมากขึ้น เราก็แนะนำแบบนี้มาตลอด ผ่านมา 40 ปี ข้อมูลออกมาอีกมาก มีทั้งทำให้ใจสั่น มีทั้งไม่เกี่ยวกับใจสั่น มีทั้งช่วยและไม่ช่วยในโรคหัวใจ ก็สรุปว่ายังก้ำกึ่ง ๆ อยู่ ใครใคร่ดื่มแล้วไม่อันตรายก็ดื่มไป
เมื่อ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟ กับการเกิดโรคหัวใจเต้นเร็ว โดยเป็นการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยพยายามเกลี่ยตัวแปรต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ โรคร่วม ปริมาณดื่ม เพื่อให้เปรียบเทียบกันได้ ผลออกมาว่า คนที่ดื่มกาแฟพบอุบัติการณ์ของหัวใจเต้นเร็ว 'น้อยกว่า' คนที่ไม่ดื่ม 'อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และดื่มจำนวนถ้วยต่อวันมากถ้วย ก็สัมพันธ์กับการเกิดใจสั่น ที่พบน้อยกว่าคนที่ดื่มจำนวนถ้วยต่อวันน้อยกว่า (ดื่มเยอะใจสั่นน้อย ดื่มน้อยใจสั่นเยอะ)
แถมการวิจัยนี้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างยีนที่ส่งผลต่อการจัดการกาแฟในร่างกายมาวิเคราะห์ด้วย เพราะในอดีตที่ผลออกมาก้ำกึ่ง อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้คิดแยกยีนและพันธุกรรมที่เรายังไม่ได้คิดแยก ผลออกมาว่า ไม่ว่าการจัดการเผาผลาญกาแฟในร่างกายอันมีผลจากยีน จะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ส่งผลต่อผลวิจัยหลัก หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเผาผลาญกาแฟอย่างไร การดื่มกาแฟจะยังสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจเต้นเร็ว น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มกาแฟ ตามผลการวิจัยหลัก
อ้าว...ออกมาแบบนี้ก็มีเฮสิครับ คอกาแฟก็ชอบ ใครยังไม่ดื่มก็อาจจะอยากหันมาดื่ม ร้านกาแฟและบาริสต้าคงมีมูลค่าทางธุรกิจเพิ่ม ... แต่เดี๋ยวก่อน ผมจะลองชี้บางอย่างของงานวิจัยนี้ แล้วคุณค่อยคิดตาม คิดใหม่ หรือคิดต่างได้นะครับ
1. การเก็บข้อมูลใช้การสอบถามเป็นหลัก ถามเป็นจำนวนถ้วยต่อวัน ประเด็นคือ อาจมีการหลงลืม การแปลความหมายที่ไม่เหมือนกัน
2. การศึกษาคิดข้อมูลการดื่มกาแฟของแต่ละคนเป็นข้อมูลคงที่ และคิดว่าคนคนนั้นดื่มกาแฟด้วยชนิดและปริมาณเท่าเดิมตลอดการศึกษา แต่ในความเป็นจริง การดื่มกาแฟเป็นพลวัติ และการเกิดใจสั่นอาจแปรเปลี่ยนตามโอกาสเวลาที่ดื่มกาแฟไม่เท่าเดิมก็ได้ ซึ่งประเด็นนี้สำคัญและการศึกษาไม่ได้ให้คำตอบตรงนี้
3. แม้จะมีการเกลี่ย เฉลี่ย จัดตัวแปรเพื่อให้การเปรียบเทียบทำได้ไม่เสียเปรียบกันนัก เช่นอายุมากขึ้นโอก่สใจสั่นก็มากขึ้น ดังนั้นจะต้องเกลี่ยตัวแปรอายุ เพราะมันมีผลกับการศึกษา แต่สิ่งสำคัญที่การศึกษานี้ไม่ได้กล่าวไว้คือ ชนิดและปริมาณกาแฟครับ อย่างที่เรารู้ กาแฟหนึ่งถ้วยที่ชนิดต่างกัน แม้ถ้วยเท่ากัน ปริมาณกาแฟหรือความเข้มข้นคาเฟอีนก็ไม่เท่ากัน เช่น เอสเปรสโซ่หนึ่งถ้วย (หนึ่งช็อต) กับ คาราเมลแมคคิอาโต้หนึ่งถ้วย องค์ประกอบต่างกันมาก กมรศึกษานี้นับหน่วยเป็นถ้วย แต่ไม่ได้แจกแจง 'ถ้วยแบบใด ของชนิดใด'
4. แม้จะรวบรวมคนที่เข้าศึกษาได้ห้าแสนกว่าคน แต่มีคนที่มีหลักฐานการเกิดหัวใจเต้นเร็วด้วยผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีประมาณครึ่งเดียว และส่วนมากเป็นผู้ป่วยใน ที่อาจเป็นโรคร่วมอื่นหรือโรคปัจจุบันใด ๆ อันต้องเข้ารับการรักษาและเกิดอาการใจสั่น ก็จะถูกนับปนไปกับ 'ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น'
5. ถ้าเรามาดูผลการศึกษา เมื่อนับอาการใจสั่นเต้นเร็วในทุกรูปแบบนั้น ค่า hazard ratioคือ 0.99 คือ กลุ่มดื่มกาแฟเกิดใจสั่นน้อยกว่ากลุ่มไม่ดื่มกาแฟ 1% ...ย้ำอีกครั้ง หนึ่งเปอร์เซนต์ มันน้อยมากเลยนะ ...และค่าความเชื่อมั่น 95% อยู่ในช่วง (0.98-1.0) เรียกว่าช่วงแคบมาก ค่าที่ได้แม่นยำสูง แต่ขอบบนมันทับเลขหนึ่ง นั่นคือไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ...อ้าว ไหนว่ามีนัยสำคัญ มาดูข้อต่อไป
6. แต่นั่นคือยังไม่ได้เกลี่ยตัวแปร หากเกลี่ยตัวแปรแล้ว ทำให้สองกลุ่มเท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค่า hazard ratio จะออกมาที่ 0.97 คือกลุ่มที่ดื่มกาแฟเกิดใจสั่นน้อยกว่ากลุ่มไม่ดื่มกาแฟอยู่ 3% ...ย้ำอีกรอบ ปรับตัวแปรแล้วเพิ่มมานิดนึง ปรับเพียบเลยนะ) โดยช่วงความเชื่อมั่น 95% คือ 0.96-0.98 ยังแคบอยู่และไม่คร่อมหนึ่ง เกิดนัยสำคัญทางสถิติแล้ว
มันก็เป็นความจริงทางสถิตินะครับ และนับว่ามีนัยสำคัญทางสถิติจริงด้วย แต่ใน clinical significant นั้นอาจแทบไม่ขยับเลย เหมือนคุณบอกว่า ถ้ามีเงินในกระเป๋ามากกว่า 100 บาทเรียกว่ารวย ถ้าใช้สถิติและตัวเลข เราจะแยกคนรวยที่มีเงิน 101บาทและคนจน 99 บาทออกจากกันได้ชัดเจน แต่มันสำคัญไหม อันนี้ต้องไปคิด
7. การศึกษานี้มีการสุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์ทางพันธุกรรม Medelian Randomization อีกด้วย เพราะจริง ๆ ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ต่างกันอาจมีผลต่อสิ่งต่าง ๆ มากมายแต่เราไม่เคยมีองค์ความรู้ตรงนี้ การศึกษานี้จัดกลุ่มย่อยเพื่อตรวจ polygenic gene score และ cytochrome 1A2 varient หมายถึงความแปรปรวนทางยีนที่จะมีผลต่อการเผาผลาญกาแฟ เช่น กำจัดกาแฟเร็ว กำจัดช้า ก็มีผลต่อระดับกาแฟและใจสั่นใช่ไหม การศึกษานี้เขาแยกให้ดู นับว่าเป็นไฮไลท์เลย เพียงแต่ทำแล้วปรากฏว่า ยีนที่แตกต่างกัน ไม่มีผลอะไรต่ออาการใจเต้นเร็ว
เอาล่ะ มันยังมีรายละเอียดเชิงลึกอีกมาก ใครสนใจไปค้นต่อได้ครับ การศึกษานี้เขาสรุปว่า "ดื่มกาแฟเป็นประจำจะพบใจสั่นน้อยกว่า ยิ่งดื่มมากยิ่งพบใจสั่นน้อยลง" แต่สำหรับผม ผมยังไม่สนิทใจนัก อยากจะสรุปว่า การดื่มกาแฟ คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอาการใจสั่นและการตรวจพบโรคหัวใจเต้นเร็ว คนที่ใจเต้นเร็วแล้วจะมาโทษกาแฟ คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว น่าจะไปดูเหตุอื่น ๆ ก่อน และคงไม่สนับสนุนให้ใครหันมาดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะพบใจสั่นน้อยลง ตามผลการศึกษานี้
"ใจสั่นคงไม่เกี่ยวกับกาแฟ
แต่ถ้าใจอ่อนแอ มีคนคอยชงกาแฟน่าจะหายดี"
ที่มา
Kim E, Hoffmann TJ, Nah G, Vittinghoff E, Delling F, Marcus GM. Coffee Consumption and Incident Tachyarrhythmias: Reported Behavior, Mendelian Randomization, and Their Interactions. JAMA Intern Med. Published online July 19, 2021. doi:10.1001/jamainternmed.2021.3616
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น