ปริศนาแห่งเบโธเฟน ตอนที่สาม
กลับมาที่เบโธเฟน ...
เราไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเบโธเฟนเป็นโรคเบาหวาน ตอนนั้นยังไม่มีการวินิจฉัยเบาหวาน แต่บันทึกของผู้ชันสูตรศพคือคุณหมอว้ากเนอร์ ได้กล่าวถึงตับอ่อน อวัยวะต้นทางของอินซูลินเอาไว้ว่า "ตับอ่อนของเบโธเฟน หดเล็กลงมากและมีพังผืดรัดตับอ่อนเต็มไปหมด"
เมื่อมารวมกับประวัติการดื่มเหล้าจัดของเบโธเฟน ทำให้คิดถึงภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ และผลแทรกซ้อนสำคัญของภาวะนี้คือ โรคเบาหวาน นั่นเอง เอาล่ะเริ่มเข้าเค้าแล้ว
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษาเรื่อง RPN ก็ดำเนินต่อไป จนถึงปี 1952 มีรายงานผู้ป่วยมากมายที่เป็น RPN และมีประวัติการใช้ยา NSAIDs ยาแก้ปวดที่แพร่หลายมากในยุคสงครามโลกและช่วงต้นของสงครามเย็น การศึกษาทั้งทางคลินิก และทางพยาธิวิทยาให้ความเห็นตรงกับที่สรุปได้ว่า อีกหนึ่งเหตุปัจจัยของ RPN คือจากยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs นี่เอง
ย้อนกลับไปที่หลอดเลือด vasa recta ที่ทอดยาวตรง renal papilla นั้นเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก มีความไวต่อการขาดเลือดมาก หากมีการตีบแคบลงของผนังหลอดเลือดก็จะตีบและเกิดเนื้อตาย
ยา NSAIDs จะยับยั้งการสร้างสารพรอสต้าแกลนดินส์ สารที่คอยควบคุมสมดุลของการไหลเวียนหลอดเลือดขนาดเล็ก หากขาดสารนี้จะทำให้หลอดเลือดไหลเวียนไม่ดี ซึ่งก็เกิดกับยา NSAIDs นี่เอง
นอกเหนือจากขาดสมดุลของหลอดเลือดที่ไต จนอาจทำให้ไตขาดเลือด ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (อย่างที่เรารู้ว่า NSAIDs ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้) ยังมีกลไกคล้าย ๆ กันนี้ที่หลอดเลือดที่ผนังกระเพาะอาหาร ทำให้หลอดเลือดใต้ผนังกระเพาะไหลเวียนไม่ดี เกิดการอักเสบขาดเลือดและการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบจากยา NSAIDs ที่เรียกว่า NSAIDs - induced gastritis เกิดปวดท้อง เลือดออกได้นั่นเอง หึหึ..ยาต้านอักเสบก็ทำให้เกิดการอักเสบนะ
ปัจจุบันนี้สาเหตุลำดับต้น ๆ เวลาพบผู้ป่วย RPN ที่ต้องค้นหาเสมอคือ ประวัติการใช้ยา NSAIDs ยิ่งกับผู้ป่วยที่หลอดเลือดไม่แข็งแรงหรือความดันเลือดไปที่ไตไม่ดีอยู่เดิม เช่น เบาหวาน ไตเสื่อม พอได้รับยา NSAIDs เข้าไปเกิดเรื่องเลย
แล้วเกี่ยวอะไรกับเบโธเฟน ....อันนี้ต้องกล่าวถึง มหาสงครามแห่งยุโรป นโปเลียนผู้รุกราน
เช่นเคย ติดตามตอนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น