ปริศนาแห่งเบโธเฟน : ตอนที่ 1
26 มีนาคม 1827 ที่อพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา ออสเตรีย โลกได้สูญเสียคตีกวีอัจฉริยะ ลุดฟิก ฟาน เบโธเฟน
หลังจากที่เบโธเฟนเสียชีวิต เขาได้รับการประทับหน้ากากแห่งความตาย (deathmask) ในยุคนั้นนิยมทำกับผู้มีชื่อเสียง และได้มีการผ่าชันสูตรพลิกศพของเบโธเฟนในวันรุ่งขึ้น ด้วยเป้าหมายอยากเรียนรู้เหตุการเสียชีวิต และแกะปริศนาความอัจฉริยะของเบโธเฟน ผู้ซึ่งประสาทหูแทบไม่ได้ยิน แต่กลับแต่งเพลงได้อมตะและไพเราะยิ่ง
คุณหมอโจฮาน ว้ากเนอร์ผู้ชันสูตรเบโธเฟน พบว่าเบโธเฟนมีภาวะตับหดเล็กลง มีน้ำในช่องท้อง น่าจะเกิดจากตับแข็ง บวกกับประวัติที่เบโธเฟนดื่มเหล้าจัดก็พออธิบายได้
ว้ากเนอร์ไม่พบความผิดปกติที่เด่นชัดของระบบเสียงสัมผัสของเบโธเฟน (ก็เข้าใจได้ เพราะชันสูตรเมื่อเสียชีวิต ก็จะไม่รู้หน้าที่การทำงานแน่นอน) และอีกสิ่งหนึ่งที่พบที่ไตของเบโธเฟน
คุณหมอบันทึกว่าลักษณะไตของเบโธเฟน มีกลุ่มเนื้อตายเป็นก้อนสีขาว บริเวณจุดรวมของท่อไตย่อยของหน่วยกรอง ที่จะมารวมกันเป็นท่อไตใหญ่เพื่อไหลไปสู่กระเพาะปัสสาวะ จุดเนื้อตายสีขาวนี้เป็นก้อนคล้ายเมล็ดถั่วฝังอยู่ในเนื้อไตส่วนที่เรียกว่า renal papilla ... บันทึกไม่ได้ระบุสิ่งอื่น เพราะในเวลานั้น ยังไม่มีคำอธิบาย 'เมล็ดถั่ว' อันนี้ได้
..เวลาผ่านไป 50 ปี..
คุณหมอนิโคลัส เฟร-ดรายช์ (Nikolaus Friedreich) แพทย์ชาวเยอรมัน สัญชาติเดียวกับเบโธเฟน ได้มาไขปริศนาของ 'เมล็ดถั่ว' อันนี้จากการวิเคราะห์การผ่าชันสูตรศพเช่นกัน สมัยนั้นเทคโนโลยีการถ่ายภาพ การส่องกล้อง ยังไม่ก้าวหน้า หลายโรคจึงได้ความจริงของโรคมาจากการชันสูตรศพเพื่อหาคำอธิบายทางพยาธิวิทยา
คุณหมอเฟร-ดรายช์ของเรา ก็เป็นพยาธิแพทย์เช่นกัน อ้าว...ฟังชื่อตอนแรกคิดว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ผู้ค้นพบโรคของระบบประสาททางพันธุกรรม spino-celebella ataxia หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Friedreich's ataxia
ถูกต้องแล้วครับ คุณหมอนิโคลัส เฟร-ดรายช์ คนนี้แหละที่ค้นพบโรคระบบประสาทนั้น เพราะในตอนแรกคุณหมอศึกษาด้านประสาทวิทยามาก่อนตั้งแต่จบหมอใหม่ ๆ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำงานกับคุณหมอรูดอล์ฟ เวียร์คอฟ (Rudolf Virchow) พยาธิแพทย์ชาวเยอรมัน ที่ถือเป็นซือแป๋ ปรมาจารย์แห่งพยาธิวิทยายุคใหม่ คิดค้นสารพัดลักษณะทางพยาธิวิทยา ที่คุณหมอรู้จักกันดีเช่น ต่อมน้ำเหลือง Virchow's node ที่มักจะบ่งชี้ถึงมะเร็งช่องท้อง หรือ Virchow's triad ที่อธิบายกลไกการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน
อิทธิพลของคุณหมอเวียร์คอฟ ทำให้คุณหมอเฟร-ดรายช์ เกิดเปลี่ยนทางไปเน้นศึกษาโรคทางพยาธิวิทยา จนได้เป็นศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาที่มหาวิทยาลัยแพทย์ไฮเดลเบิร์ก หนึ่งในสุดยอดโรงเรียนแพทย์ในยุคสมัยนั้น แม้กระทั่งโรค Friedreich's ataxia คุณหมอก็เริ่มอธิบายจากความผิดปกติของเส้นใยสมองและมีความเกี่ยวพันในทางพันธุกรรม ถ่ายทอดแบบยีนเด่นในครอบครัว (autosomal recessive)
และอธิบายโรคนี้ในปี 1863 หลังจากมาศึกษาด้านพยาธิวิทยาแล้ว ในตอนนั้นคิดว่าเป็นชนิดย่อยอันหนึ่งของโรคระบบประสาท multiple sclerosis แต่ภายหลังมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ และยกย่อง นิโคลัส เฟร-ดรายช์ เป็นผู้ค้นพบในปี 1880 หลังคำอธิบายโรคเกือบ 17 ปี
กลับมาที่เบโธเฟนต่อ ...
ติดตามตอนต่อไปนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น