ctDNA กับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
มาตรการการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบัน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดการสูญเสียทรัพยากรในการรักษาไปมากมาย แต่ปรากฏว่ามีผู้ที่เข้ารับการคัดกรองไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น
การตรวจอุจจาระ ต้องตรวจสามวันติดต่อกันและทำทุกปี
การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ ค่าใช้จ่ายสูงและทำไม่ได้ทุกที่ หากพบความผิดปกติต้องไปส่องกล้องซ้ำ
การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ บุคลากรไม่เพียงพอ ต้องเตรียมลำไส้ และเสี่ยงอันตรายจากการทำหัตถการ
ข่าวจากการประชุมแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา (ASCO 2021) ได้นำเสนอวิธีการคัดกรอง ย้ำอีกรอบว่าเป็นการคัดกรองนะครับ ไม่ใช่การตรวจเพื่อวินิจฉัยที่แน่นอน สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยวิธีการตรวจเลือดหาดีเอ็นเอของมะเร็ง circulatory tumor DNA (ctDNA) โดยให้แนวคิดว่าเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน อันตรายต่ำ ค่าใช้จ่ายไม่มาก และความไวพอสมควร
ความไวพอสมควรนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้นำเสนอการศึกษาแบบ Case-Control คือนำคนที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งรายใหม่ มาตรวจเลือดหา ctDNA เทียบกับวิธีการตรวจชิ้นเนื้อมาตรฐานว่ามีความไวความจำเพาะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน และหากเทียบกับกลุ่มตัวอย่างควบคุม คือไม่เป็นมะเร็งนั้น โอกาสจะเกิดผลบวกจริง ลบจริงเป็นอย่างไร โดยการทดสอบใช้อุปกรณ์การทดสอบชื่อ LUNAR-2 จากบริษัท Guardant health
จากจำนวน ผู้ป่วยรายใหม่ 433 ราย พบความไวของการทดสอบนี้คือ 91% โดยในมะเร็งระยะสามจะไวกว่ามะเร็งระยะ 1-2 เล็กน้อย ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะก้อนใหญ่กว่า มีการรุกล้ำมากกว่า ในมะเร็งที่ยังไม่มีอาการจะตรวจพบได้น้อยกว่ากลุ่มมะเร็งที่มีอาการแล้ว แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ความจำเพาะต่อการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ อยู่ที่ 94% ความไวและความจำเพราะนี้ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง โรคระยะแรกและโรคระยะหลัง มีอาการหรือไม่มีอาการ มะเร็งลำไส้ใหญ่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา (สองฝั่งอาการจะต่างกัน)
ตอนนี้กำลังเก็บข้อมูลการวิจัยในคนเพื่อประเมินประสิทธิภาพในทางคลินิกชื่อ ECLIPSE ที่จะเก็บข้อมูลสิ้นสุดในปลายปีนี้ คงจะได้เห็นกันว่าดีหรือไม่ จริง ๆ เรื่องการตรวจวัดแบบนี้มีการศึกษาทำในเอเชียที่เกาหลีและญี่ปุ่นเช่นกัน ผลความไวและความจำเพาะไม่ต่างกับในกลุ่มประเทศตะวันตกเท่าไร
อนาคตอันใกล้ เราจะก้าวไปสู่ยุค Genomic Technology กันแล้ว “นะจ๊ะ”
อ้อ... อังกฤษเล่นดีมาก แต่จะแพ้เยอรมัน 2-0 ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น